Business Highlight Online : 26 พฤษภาคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ มุ่งสร้างเครือข่ายร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย พัฒนาร้านค้าพี่เลี้ยงต้นแบบ ยกระดับร้านค้าเป็น“สมาร์ทโชห่วย” สร้างโอกาส ขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการค้าของธุรกิจ SME ด้วยความเชื่อมั่นว่า SME จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง มุ่งยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน กระจายความเจริญ ลดช่องว่างของการพัฒนา ทั้งนี้ มีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบแล้ว 307 ร้านค้า และสมาร์ทโชห่วย 7,375 ร้านค้า ทั่วประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามแนวทางเพื่อยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย สร้างโอกาสทางการตลาด โดยการสร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน สร้างร้านค้าต้นแบบ เพื่อเป็นร้านค้าตัวอย่างและร้านค้าพี่เลี้ยงสำหรับการช่วยดูแลร้านค้าอื่น ๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในการประกอบธุรกิจ โดยได้มีการตั้งเป้าหมาย การพัฒนาร้านค้าต้นแบบในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้าและขยายผลไปยังร้านค้าส่งค้าปลีกอื่นๆ ให้ได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 250 ร้านค้า สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาระบบการจัดการของร้านค้าให้มีความทันสมัย ขยายตลาด ขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มยอดขาย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีเป้าหมายพัฒนาร้านค้า“สมาร์ทโชห่วย” โดยจะมีการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยการใช้ระบบขายหน้าร้าน (POS: Point of sale) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการขายสินค้าหน้าร้าน การจัดการสต็อกสินค้า การดูรายงานยอดขายเบื้องต้น การสรุปรายรับรายจ่าย และการจัดการใบกำกับภาษี เป็นต้น พร้อมทั้งมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านสัมมนาออนไลน์/ออนไซต์ทั่วประเทศ และ สิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากหน่วยงานในเครือข่าย โดยทางหน่วยงานมีแผนที่จะลงพื้นที่เบื้องต้นใน 24 จังหวัด 33 ร้านค้า เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับภาพลักษณ์ การจัดเรียงสินค้า พร้อมทั้งสอนการใช้งานเทคโนโลยีการขาย จังหวัดละ 1 ร้านค้า ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุทัยธานี ตรัง พังงา และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ร้านค้า ได้แก่ สุโขทัย ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และสระแก้ว จังหวัดละ 3 ร้านค้า ได้แก่ ขอนแก่น และสกลนคร
ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 พบว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการยกระดับเพื่อสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ (พี่เลี้ยงโชห่วย) ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 307 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 99 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 98 ร้านค้า ภาคเหนือ 66 ร้านค้าและภาคใต้ 44 ร้านค้า และการพัฒนาร้านค้าโชห่วยอื่นๆ ในการปรับภาพลักษณ์ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (สมาร์ทโชห่วย) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,375 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 2,288 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,063 ร้านค้า ภาคใต้ 1,523 ร้านค้า และ ภาคเหนือ 1,501 ร้านค้า
“นายกรัฐมนตรี มุ่งยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน เพื่อร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจระดับชุมชนร่วมกันภายในท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนการพัฒนาร้านค้า นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาร้านค้าโชห่วยในโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าและโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับร้านค้า สู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยสามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนศักยภาพของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น” นายชัย กล่าว
Advertisment