Business Highlight Online : 10 มิถุนายน 2567 นายกฯ ประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งที่ 2/67 ตั้งเป้าดัน GDP ปี 67 ขยายตัว 3% ผ่านการเดินหน้า 3 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เร่งรัดการลงทุนภาครัฐ และกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
วันนี้ (10 มิ.ย. 67) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯ ได้ย้ำถึงการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามงานต่อเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (27 พ.ค. 67) ในการติดตามประเด็นภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนั้นที่ประชุมและนายกฯ ได้รับทราบรายงานถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2567 ซึ่งข้อมูลล่าสุดของกรมบัญชีกลาง รายจ่ายลงทุน ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 38.6 แต่ถ้ารวมการก่อหนี้ผูกพันด้วยจะมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 50.1 โดยสิ่งที่ต้องเร่งรัดมี 4 ส่วน ได้แก่ 1) เร่งทำ PO หรือก่อหนี้ผูกพัน 2) เร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามคาดการณ์ที่ร้อยละ 70 เท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องทำอีก 2 ส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีก ได้แก่ 3) เร่งให้ได้ตามเป้าร้อยละ 75 และ 4) เร่งเบิกจ่ายส่วนที่เหลือในไตรมาสที่ 4 ปีปฏิทิน ดังนั้น ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนให้ถึงเป้า รวมทั้งได้รับทราบถึงการตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงการคลังประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.4 โดย Key Driver ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ การส่งออกบริการ และการลงทุนภาคเอกชน
ภายหลังการประชุมฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงถึงผลการประชุมสรุป ดังนี้
นายพิชัย ได้ย้ำว่าเศรษฐกิจประเทศไทยยังมีปัญหา โดย GDP เติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าหรือเพื่อนบ้าน จึงร่วมกันมาหาแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งนี้ในปี 2567 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลงเรื่อง GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/2567 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2566 และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5 แต่ในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งขณะนี้ก็ต้องหาแนวทางในการดำเนินการในปีนี้ก่อนรวมทั้งการที่จะหาแนวทางใน 4 ปีข้างหน้าที่จะทำให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร โดยระยะยาวทางที่เราจะรอดได้คือ GDP ต้องขึ้นไปอยู่ที่ 5% โดยปีนี้ได้มีการตั้งมาตรการเบื้องต้นไว้ก่อนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2.4 เป็นเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 3 ภายในปีนี้ โดยจะมีการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น 1) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1 ล้านคน จาก 35.7 ล้านคน เพิ่มเป็น 36.7 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งการดำเนินการสำคัญคือการทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้นเพื่อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ 2) มาตรการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ เร่งการเบิกจ่ายจากร้อยละ 64 เป็น ร้อยละ 70 (เป้าหมายการเบิกจ่ายที่ 75%) ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ (มิถุนายน – กันยายน) รายจ่ายลงทุน 8.5 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ จะถึงนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้า เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผน และ 3) มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้นักลงทุนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เริ่มลงทุนจริงให้ได้ภายในปีนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตรงนี้ก็จะทำงานร่วมกับบีโอไออย่างใกล้ชิดเพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในไทยให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่ม GDP ได้ได้ตามเป้าหมาย
พร้อมกันนี้ นายพิชัย ได้กล่าวถึงปัญหาราคาปาล์มตกต่ำว่า ผลผลิตของปาล์มแต่ละครั้งมีผลผลิตมากน้อยต่างกันซึ่งจำนวนผลผลิตที่ออกมาจะส่งผลต่อราคาด้วย ซึ่งวงจรที่เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตปาล์มออกชาวสวนก็จะนำมาขายให้พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าคนกลางนำไปข่ายต่อให้โรงสกัด (CPO) ก่อนส่งต่อไปให้โรงกลั่น (B100) และ ผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 แต่เนื่องจากโรงกลั่น (B100) มีกำลังการกลั่น 7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 มีความต้องการ 4 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น ปริมาณการผลิตมีมากกว่าความต้องการ กดดันให้ราคา B100 ต่ำกว่าราคาประกาศ ทั้งนี้เดือนที่ผ่านมาราคาปาล์มอยู่ที่ 3.70-3.80 บาท ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันว่าใครจะเป็นคนซื้อ B100 ซึ่งมีราคาประกาศโดย สนพ. โดยเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ซื้อจะต่อราคาก็ขอให้ช่วยพิจารณาดูตรงนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเพราะปาล์มถือเป็นพืชพลังงาน รวมทั้งระยะยาวเรื่องของสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดจะมีการพิจารณาปรับไปสู่สินค้าที่มีคุณค่าไม่ใช่ว่านำมาทำพลังงานอย่างเดียว ทั้งนี้ระยะสั้นอยากเห็นผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 สามารถคุยกับเจ้าของโรงกลั่น (B100) เพื่อให้เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประกาศหรือได้ในราคาประกาศ ตรงนี้หาก B100 ขึ้น CPO ก็จะขึ้นด้วย และหากควบคุมการซื้อขายปาล์มได้ก็จะทำให้ราคาปาล์มขึ้นไปอยู่ที่ 5 บาทได้ โดยจะมีการหารือของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีการหารือกับผู้รับซื้อรายใหญ่ตามมาตรา 7 เพื่อให้ได้แนวทางแก้ปัญหาและการดำเนินการลงตัวที่สุด
นายพิชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานว่า ข้อมูลกระทรวงแรงงานรายงานขณะนี้ในช่วง 5 เดือนแรก มีผู้ประกันตนที่ว่างงาน 3.5 แสนคน โดยกลับสู่ระบบการจ้างงาน 1.7 แสนคน ซึ่งคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 1.7 แสนคนบวกกับนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5 แสนคน ทำให้มีจำนวนแรงงานที่ต้องการทำงานประมาณ 6 – 7 แสนคน ทำให้ตำแหน่งงานว่างมีไม่เพียงพอ ขาดอีกประมาณ 1 – 2 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตามกรณีคนที่ตกงานนั้น บางรายก็ไปประกอบอาชีพส่วนตัว และบางส่วนก็ไปทำงานที่ต่างประเทศ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานก็จะไปดูในส่วนที่ยังมีตำแหน่งงานว่างกับจำนวนแรงงานที่ต้องการทำงานให้เกิดความสมดุลกัน
รวมทั้งที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการ Upskill กำลังคน โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและการลงทุนของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านพลังงานสีเขียว ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor โดยการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศด้วย พร้อมทั้งการทำงานร่วมกับต่างประเทศในการที่จะหาที่ฝึกงานรองรับนักศึกษาของไทยในการพัฒนากำลังคน เช่น มหาวิยาลัยไทยส่งนักศึกษาไป Internship ที่มหาวิทยาลัยไต้หวันในด้าน Semiconductor
นอกจากนี้ นายพิชัย ได้ย้ำถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยวโดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วง Low Season ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบด้วย 2 มาตรการ 1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ 1) สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2) สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1. และ 3) ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ ตามข้อ 1) และข้อ 2) ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด ตามข้อ 1) หรือข้อ 2) แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง และ 2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
Advertisement