ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 และอนุมัติงบประมาณ 7,125 ลบ. ดำเนินโครงการ

106

Business Highlight Online : 11 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ

วันนี้ (11 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (โครงการ PGS) ระยะที่ 11 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำหนดโครงการย่อยภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 11 ที่เน้นให้ความสำคัญและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ เห็นควรให้ บสย. ร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ในมิติต่าง ๆ จากโครงการ PGS ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนำมาปรับปรุงและเร่งพัฒนา Credit Scoring Model และ Risk-based Pricing Model อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้มีการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าอย่างแม่นยำถูกต้อง ช่วยให้การกำหนดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการค้ำประกันมีความสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย และพัฒนาไปสู่การพิจารณาอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเป็นรายลูกค้า (Individual Guarantee) ต่อไป นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 11 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เห็นควรให้ บสย. พิจารณางดเก็บหรือเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจ่ายค่าประกันชดเชย ค่าจัดการค้ำประกัน ค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล IGNITE THAILAND ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์หรือวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กค. จึงขอเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย

(2) เป็นกลไกในการสนับสนุนศักยภาพด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน

(3) เป็นกลไกในการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจทางด้านสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

วงเงินค้ำประกันโครงการ – 50,000 ล้านบาท โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบการค้ำประกัน – Portfolio Guarantee Scheme / Package Guarantee Scheme

ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ – นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

อายุการค้ำประกันสินเชื่อ – ไม่เกิน 10 ปี

วงเงินค้ำประกันต่อราย – ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการค้ำประสินเชื่อ – รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.758 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม

กรอบวงเงินค่าประกันชดเชยตลอดโครงการฯ – รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) บสย. ขอรับเงินงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และการชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท (ร้อยละ 14.25 x 50,000 ล้านบาท)

(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามรายรับที่เกิดขึ้นจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 7,875 ล้านบาท (ร้อยละ 15.75 x 50,000 ล้านบาท)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ

(1) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย)

(2) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า)

Advertisment