นายกฯ แถลง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3,752,700 ลบ. ย้ำดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน เป็นไปตามกฎหมาย

122

Business Highlight Online : 19 มิถุนายน 2567 นายกฯ แถลง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ย้ำรัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน เป็นไปตามกฎหมาย

วันนี้ (19 มิถุนายน 2567) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

หลักการ

ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,752,700,000,000 บาท (สามล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นสองพันเจ็ดร้อยล้านบาท) โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

เหตุผล

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ  มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568  ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ณ เดือนเมษายน 2567 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป

ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของประเทศไทย เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน และพลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่าง ๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอด ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

อีกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การใช้ประโยชน์จากความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ สภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก เกิดเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เป็นต้น โดยความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ว่าห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินธุรกิจจะมีความยืดหยุ่น (Resilient) ต่อสถานการณ์ความตึงเครียดต่าง ๆ จึงทำให้ประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดังกล่าวของภูมิภาคและของโลกได้

ครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ เกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง รัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังซ้ำร้ายด้วยภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

การลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และได้มีการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 850,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการเดินหน้าเจรจาการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการดำเนินนโยบายที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ได้ผลมาก

ตัวอย่างของความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา คือการประกาศเปิดศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภาคเอกชนรายใหญ่จากต่างประเทศ หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายคลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) และเดินหน้าเจรจาการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ทำให้คนไทยและบริษัทไทยเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ได้ง่ายยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวของนักศึกษา นักวิจัย และบริษัทเอกชนที่เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มผลิตผล (Productivity) อย่างรวดเร็ว มีหลายบริษัทในอุตสาหกรรมชั้นสูงได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะเข้ามาลงทุนตั้งบริษัท และสำนักงานในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงมีความต้องการที่จะลงทุนพัฒนาบุคลากรในประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตอีกด้วย ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภาคการศึกษา ภาคแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน  และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ฐานะการคลัง

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท  โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะและนโยบายการเงิน

คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน มีอัตราเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและภาคการผลิต ที่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และภาค SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินการที่สอดประสานกันระหว่างภาคการเงินและการคลัง ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.0 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท

  1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ

1.1     งบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้ จำนวน 805,745.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.5 ของวงเงินงบประมาณ

1.2     งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ กำหนดไว้ จำนวน 1,254,576.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.4 ของวงเงินงบประมาณ

1.3     งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ  กำหนดไว้ จำนวน 206,858.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่

  1. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
  3. ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  4. เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
  5. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
  6. ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
  7. พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
  8. พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
  9. รัฐบาลดิจิทัล
  10. สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

1.4     งบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้ จำนวน 800,969.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.4 ของวงเงินงบประมาณ

1.5     งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้ จำนวน 274,296.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ

1.6     งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของวงเงินงบประมาณ

  1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ มีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ จำแนกตามแผนงาน  ดังนี้

               1)   การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด งบประมาณ 5,087.7 ล้านบาท เพื่อให้ปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไข เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย มีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันและปลอดภัยจากยาเสพติด ให้การช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างการยอมรับและให้โอกาสทางสังคมกับผู้ที่ได้รับการบำบัด ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

               2)   การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณ 5,629.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียน มีเกียรติภูมิ อำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในสากล เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างอำนาจแบบนุ่มนวล ดำเนินการเพื่อสันติภาพตามกรอบสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้แนวทางสันติวิธี

               3)   การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 5,781.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มีเป้าหมายให้การสูญเสียและเหตุการณ์รุนแรงลดลงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชน บนพื้นฐานของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ

               4)   การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณ 12,700.6 ล้านบาท เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ  สร้างความผูกพันที่ดีระหว่างสถาบันหลักและประชาชน ความจงรักภักดี และเป็นที่เคารพยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติอย่างสันติ บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน

               5)   การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณ 18,376.9 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ  ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและความมั่นคงทางชายแดน ชายฝั่งทะเล  ป้องกันภัยอาชญกรรมข้ามชาติ  เสริมสร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมีระบบป้องกันเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจน ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 179,800 ครั้ง

               6)   การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณ 24,582.7 ล้านบาท  เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติ โดยปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการ และพัฒนาระบบเตือนภัยให้รองรับและครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ ระบบพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ  รวมทั้ง ลดความเสียหายและป้องกันการพังทลายของพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ ด้วยเขื่อนป้องกันตลิ่ง ความยาว 181,223 เมตร

               7)   การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณ 28,608.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม เคารพในความหลากหลายระหว่างศาสนิกชน  มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกและเสริมสร้างความเป็นพลเมือง พร้อมทั้งส่งเสริมสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาในการวางรากฐานความมั่นคงของประเทศ

               8)   การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณ 61,182.7 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานด้านความมั่นคง มีความพร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทุกมิติ และทุกระดับความรุนแรง พัฒนาระบบงานข่าวกรอง รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพด้านการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร  รวมทั้ง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ

               9)   การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น  งบประมาณ 40,663.1  ล้านบาท  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ  งบประมาณ 202,799.1 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า รวมทั้ง พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญในทุกภูมิภาคของประเทศ จำแนกตามแผนงาน ดังนี้

               1)   การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณ 429.3 ล้านบาท  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สังคม สิ่งแวดล้อม พัฒนาด่านศุลกากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 แห่ง และเพิ่มประสิทธิภาพที่ทำการปกครองจังหวัด/อำเภอ เพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 33 แห่ง รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพ และเสริมสร้างสมรรถนะผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

               2)   การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณ 1,998.0 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคง สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน รักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไม่น้อยกว่า 140,000 บาร์เรลต่อวัน  สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการผลิตพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก กำกับดูแลกลไกตลาดพลังงานให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน เพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชน ระดับตำบล และเครือข่ายพลังงานชุมชน เช่น จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานในชุมชนไม่น้อยกว่า 541 แห่ง โครงการด้านพลังงานชุมชนสามารถลดการใช้พลังงานได้รวมไม่น้อยกว่า 1.12 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี

               3)   การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณ 2,790.5 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยการขยายโครงข่ายสื่อสารหลักและบรอดแบรนด์ความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และบริการคลาวด์กลางภาครัฐ พร้อมมาตรการเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ เพิ่มประสิทธิภาพการตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงอุตสาหกรรมเกมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

               4)   การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ งบประมาณ 4,931.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบการชุมชนมีความรู้และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านสาขาอาหาร โดยพัฒนาเชฟ 17,400 ราย ผู้ประกอบการ 200 กิจการ/กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา 150 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น โดยพัฒนาผู้ประกอบการ 500 ราย สินค้าแฟชั่น 100 กิจการ รวมทั้งมีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ โดยเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับธุรกิจ  ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีช่องทางการค้าผ่าน e-commerce 25,800 ราย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน  และส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล

               5)   เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณ 7,615.0 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้สะดวก และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น เตรียมพื้นที่สำหรับพัฒนาศูนย์ธุรกิจ และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่ชุมชนและปรับปรุงภูมิทัศน์ตามผังเมืองอีอีซี ไม่น้อยกว่า 21 แห่ง ยกระดับและพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจร 2 แห่ง  โรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทาง 1 แห่ง  ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2,700 คน และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรอัจฉริยะ 40 ชุมชน

               6)   การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณ 8,737.7 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 4.8 โดยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้เกิดการขยายตัว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอากาศยาน และอุตสาหกรรมความมั่นคง โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมฮาลาล และพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ  ตลอดจนพัฒนาต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและกำลังคนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

               7)   การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ 11,297.4 ล้านบาท เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3.4 ล้านล้านบาท  และอันดับการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยวอยู่ 1 ใน 30 ของโลก โดยส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กลุ่มคุณภาพ กลุ่มกีฬา กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มความสนใจพิเศษไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวทางถนน 23 สายทาง ก่อสร้างทางหลวงชนบทเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักกับแหล่งท่องเที่ยวรอง ระยะทางไม่น้อยกว่า 213.295 กิโลเมตร ปรับปรุงท่าเรือ 6 แห่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของสวนสัตว์ 6 แห่ง และจัดตั้งสวนสัตว์แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี ให้ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับโลก รวมทั้งพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 100 หมู่บ้าน แหล่งท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรม 11 แหล่ง และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ 8 แห่ง

              8) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณ 13,087.5 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เพื่อยกระดับความน่าอยู่ของเมือง โดยใช้แผนผังภูมินิเวศเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึง ผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยสนับสนุนการวางผังเมือง 62 ผัง และจัดรูปที่ดิน 991 ไร่

                9)   การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณ 19,354.5 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ขยายการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้มีทักษะสูงขึ้น เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ตอบโจทย์ปัญหาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในอนาคต

               10)  การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  และการสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 27,132.7 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน รวมทั้ง สนับสนุนยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการยกระดับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ และโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน พัฒนาช่องทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน 

               11)    การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณ 45,908.4 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและผลิตภาพด้านการผลิตของสาขาเกษตร เป้าหมายรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตร 332,807 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 472,500 ไร่ และ 2,347 แปลง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสมให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิต บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน 61,625 ไร่ และ 135 แปลง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตและปรับเปลี่ยนการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตรวจสอบความปลอดภัยและรับรองคุณภาพสถานประกอบการสินค้า 69,985 แห่ง ส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 11,493 แห่ง สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร มีความเข้มแข็งในระดับที่ประกอบธุรกิจได้มีประสิทธิภาพและระดับที่พัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 1,533 แห่ง และไม่น้อยกว่า 1,127 กลุ่ม สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้ง เกษตรกรจำนวน 2.698 ล้านราย ได้รับการพักชำระหนี้ตามมาตรการพักชำระหนี้ และเข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” จำนวน 300,000 ราย และส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นภาคการผลิตที่สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง มุ่งไปสู่การเพิ่มรายได้สุทธิให้เกษตรกร 3 เท่า

               12)    การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณ 196,194.6 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงทั่วถึงอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงการกำกับดูแลการคมนาคมทั้งระบบให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เช่น ทางถนน บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทางไม่น้อยกว่า 129,314.935 กิโลเมตร ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทางไม่น้อยกว่า 3,633.114 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะทางไม่น้อยกว่า 49.888 กิโลเมตร ปรับปรุงจุดเสี่ยงบริเวณอันตราย และเพิ่มความปลอดภัยบนถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท 3,620 แห่ง ทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการขนส่งทางราง อาทิ รถไฟทางคู่สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ รวมถึงพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ทางน้ำ พัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ โดยปรับปรุงและก่อสร้างท่าเรือ 28 แห่ง ปรับปรุงและก่อสร้างเขื่อน 20 แห่ง บำรุงรักษาร่องน้ำ 100 ร่องน้ำ กำกับและควบคุมตรวจตราการเดินเรือ รวมถึงพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี ทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร 53 ล้านคน และปริมาณสินค้า 7,900 ตัน โดยไม่ละเลยเรื่องความปลอดภัยของการเดินทาง และการตรวจคนเข้าเมือง พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน 29 แห่ง โดยขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน อาคารที่พักผู้โดยสาร  พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพท่าอากาศยาน 14 แห่ง ให้มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พัฒนาและส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนอย่างทั่วถึง พัฒนารูปแบบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม  พัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ไม่น้อยกว่า 2,390 คน และโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) รวมทั้งศึกษาและให้คำปรึกษาการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

               13) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 15,365.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 43,343.1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากำลังคนและศักยภาพของประเทศอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์  พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล  ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้ง พัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้

               1)  การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณ 2,811.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง โดยส่งเสริมให้ทุกช่วงวัยออกกำลังกาย เล่นกีฬา และนันทนาการอย่างต่อเนื่อง ยกระดับบุคลากรการกีฬา นันทนาการ และวิทยาศาสตร์การกีฬาให้ได้มาตรฐานสากล พัฒนาเยาวชนมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาอาชีพและระดับนานาชาติ รวมทั้งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกกำลังกาย

                2)  การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณ 2,962.9 ล้านบาท  เพื่อให้ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม และภูมิใจในความเป็นไทย  โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเทิดพระเกียรติทั้งด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม  กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและมรดกภูมิปัญญา ไม่น้อยกว่า 11.05 ล้านคน ส่งเสริมการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้ง พัฒนางานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้มีรูปแบบที่ทันสมัย อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล

               3)  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณ 34,188.6 ล้านบาท  โดยปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน  สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่น้อยกว่า 1,451 แห่ง พัฒนาโรงเรียนคุณภาพ 1,808 โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สนับสนุนทุนการศึกษาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ไม่น้อยกว่า 12,092 คน  ยกระดับการผลิตและพัฒนาศักยภาพทางวิชาชีพกำลังคนอาชีวศึกษา 35,000 คน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นครูยุคใหม่ สนับสนุนการคืนครูให้นักเรียนไม่น้อยกว่า 76,440 คน พัฒนาการจัดการเรียนรู้สะตีมศึกษา (STEAM) ในโรงเรียน 17,000 แห่ง สนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม ไม่น้อยกว่า 600,000 รูป รวมทั้ง พัฒนาทักษะวิชาชีพและอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน เพื่อเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานและต่อยอดอาชีพให้กับประชาชน

               4) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณ 36,055.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาและการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โดยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย ให้มีสุขภาวะที่ดีและพัฒนาการสมวัย ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาและมีทักษะรองรับการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 พัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีสมรรถนะสูง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 14,320 คน สนับสนุนทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา 1,268 คน พัฒนาทักษะกำลังแรงงานเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ  อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และพัฒนาทักษะอาชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 22,500 คน  ให้ได้ทำงานตามศักยภาพและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

               5) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 66,313.7 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 32,360 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อปี พัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิและเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพด้วยการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มการส่งเสริมสุขภาพ ไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน พัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ทันสมัยเพื่อรองรับการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ สนับสนุนเครื่องมือและนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบส่งต่อ พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,075,163 คน และภาคีเครือข่าย ให้มีศักยภาพในการจัดการสุขภาพชุมชนได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ตลอดจน พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตและขับเคลื่อนเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี 928 อำเภอ รวมทั้ง เสริมสร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรในระบบสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

               6)   การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 23,752.1 ล้านบาท  และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 416,939.9 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า รวมทั้ง สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาน้อมนำแนวพระราชดำริมาบูรณาการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ  เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้

              1)    การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 887.8 ล้านบาท  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุ มีความรอบรู้ในทุกมิติไม่น้อยกว่า 4.4 ล้านคน เช่น การดูแลรักษาสุขภาพ โรคและความเสี่ยงของสุขภาพที่จะส่งผลกระทบเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  การออมเงินและการบริหารหนี้ การจัดการที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนทุกวัย เป็นต้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ ด้านสังคม ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและเข้าถึงระบบคุ้มครองทางสังคม รวมถึงส่งเสริมบุคลากรด้านสุขภาพให้ได้รับการฝึกอบรม  ด้านสภาพแวดล้อม ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้เหมาะสม ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลด้านอนามัยพื้นฐานทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ  ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และสร้างเสริมความเสมอภาคด้านสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

              2)    การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน งบประมาณ 1,695.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนากลไกการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะ รวมถึงพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มการกระจายการถือครองที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและประชาชนอย่างเข้าถึงได้และเป็นธรรม พัฒนาแนวทางการพิสูจน์สิทธิในที่ดินและระบบการออกเอกสารสิทธิ์ โดยมีจำนวนแปลงที่ดินที่เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน 86,000 แปลง ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ตลอดจนสร้างรายได้จากผืนดินอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ แก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรที่มีอยู่ก่อนประกาศเขตพื้นที่ป่า โดยมีการตรวจสอบหนังสือเอกสารสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 250 แปลง จัดระเบียบการใช้ที่ดินด้วยการสำรวจการถือครองที่ดินและจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ในระดับพื้นที่ 2,331 หมู่บ้าน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ

              3)    การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 2,088.0 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมองค์ความรู้ ทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพของแรงงานในระบบเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 60,000 ราย เกษตรกรได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 37,000 ราย สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 19,200 คน สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายด้วยระบบดิจิทัล ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร พื้นที่ คทช. ที่จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรได้รับการอนุรักษ์ 13,000 ไร่ สนับสนุนการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สนับสนุนการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมตลาดสินค้าอัตลักษณ์ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร และส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ รวมถึงสร้างช่องทางการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น ผ่านกลไกของสหกรณ์ ร้านค้าชุมชน และวิสาหกิจชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              4)    การเสริมสร้างพลังทางสังคม งบประมาณ 7,205.8 ล้านบาท เพื่อสร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังในการพัฒนาและทำประโยชน์ส่วนรวมในสังคม พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ส่งเสริมศักยภาพบทบาทสตรีและสิทธิมนุษยชน สนับสนุนให้ทุกเพศสภาพเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้ ขยายผล และพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม 80 กิจการ สร้างสมาชิกเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง 140 ราย ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการทางการเงินเพิ่มขึ้น 45,000 คน สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมทุนทางสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การเพิ่มคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

              5)    การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณ 16,458.9 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการจัดสรรที่ดินทำกินเป็นของตนเอง  เพื่อใช้สำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอยู่อาศัย แก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ส่งเสริมการพัฒนาและทดลองรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 1,100 ราย ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยสนับสนุนการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในการติดตั้ง Solar Home ไม่น้อยกว่า 3,700 แห่ง  และระบบประปาไม่น้อยกว่า 770 แห่ง ตลอดจนสนับสนุนงานพิธีศพที่ได้รับพระราชทานตามพระบรมราโชบายอย่างเหมาะสม

              6)    การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณ 24,042.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นให้ภาคประชาชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งบูรณาการแผนให้สอดคล้องกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

              7)    มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม งบประมาณ 26,528.0 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบและกลไกในการช่วยเหลือสนับสนุน และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันและปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มคุณภาพการให้บริการสาธารณะให้มีความปลอดภัย รวมทั้งสร้างพลังความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองทางสังคม โดยเป็นการสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ไม่น้อยกว่า 2.34 ล้านคน สนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี 153,927 ราย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงหลักประกันทางสังคม สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง 3,900 ครัวเรือน บ้านพอเพียง 14,850 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 70 ครัวเรือน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

              8)    การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณ 88,530.8 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบและนอกระบบตามสิทธิที่กำหนดไว้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 9.7 ล้านคน  สนับสนุนค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 34,232 โรงเรียน เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง มีคุณภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 1.46 ล้านคน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบหรือกลไกความร่วมมือในพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งสนับสนุนทุนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 5,958 คน

              9)    การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 369,790.6 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกมิติ ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ รวมถึงสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะในระดับจังหวัด ส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนในทุกพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงนโยบายและการบริหารจัดการระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ สู่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

              10)    การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณ 377,296.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกจากบริการพื้นฐานการแพทย์ใกล้บ้าน โดยยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ และการตรวจคัดกรองซิฟิลิสสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ต้องขัง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่น้อยกว่า 47.16 ล้านคน ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบให้สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างความปลอดภัยและอนามัยสุขภาพในการทำงานให้เหมาะสม  ส่งเสริมค่าใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่น้อยกว่า 14.98 ล้านคน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเสมอภาค

              11)   การดำเนินภารกิจพื้นฐาน  งบประมาณ 716.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 8,610.4 บาท เพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐมีระบบบริหารจัดการที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และนายจ้างมีการบริหารจัดการด้านแรงงานตามกฎหมายสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงาน รวมถึงสถานประกอบกิจการมีการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างถูกต้อง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว  โดยจำแนกตามแผนงาน ดังนี้

               1)   การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล งบประมาณ 612.6 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ให้มีความอุดมสมบูรณ์  เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง พัฒนาเครื่องมือ และมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กับการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีค่าเป้าหมายดัชนีคุณภาพมหาสมุทร 74 คะแนน

               2) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 899.0 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยการจัดการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการบริหารจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด ส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม และความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร จัดการคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ  และปริมาณน้ำเสียได้รับการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ไม่น้อยกว่า 92.0 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการส่งเสริมให้โรงพยาบาลมีการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์

               3)   การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ 2,127.6 ล้านบาท  เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลง 60 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 12 จากกรณีปกติ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า เพื่อพัฒนาประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจวัดและการแจ้งเตือนภัยสภาพอากาศ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อใช้กำหนดนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

               4)   การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณ 5,696.8 ล้านบาท  เพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยพัฒนากลไกและมาตรการในการอนุรักษ์ ปกป้องคุ้มครอง ลดภัยคุกคาม ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 98.94 ล้านไร่ พัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท 9,876 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ 26,020 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการป้องกันและควบคุมไฟป่า 3.875 ล้านไร่ รวมทั้ง ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

               5)   การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 99,132.7 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้ง ช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคผ่านการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 107,137 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงด้านน้ำทั้งภาคการผลิต เกษตร และอุตสาหกรรม ให้มีต้นทุนน้ำใช้อย่างสมดุล  มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 373,189 ไร่  ปริมาณฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ 486,386 ไร่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 1,203 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 82,349 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟู 23,242 ไร่ พื้นที่ชลประทานเดิมได้รับการปรับปรุง 988,934 ไร่ เกษตรกรและราษฎรได้รับประโยชน์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 22,000 คน โดยในปี พ.ศ. 2567 ก็ได้มีการเริ่มลงทุนเพื่อรับมือกับสภาวะแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และใช้การบริหารน้ำอย่างครบวงจรเพื่อบรรเทาภัยพิบัติทุกรูปแบบ

               6)   การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ10,881.3 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 17,941.9 ล้านบาท  เพื่ออนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้ง สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช พัฒนาสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจน การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม จำแนกตามแผนงานสำคัญ  ดังนี้

              1)    การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณ 954.6 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 48 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 55 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 89 คะแนน  เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย ผ่านการปลูกจิตสำนึก และสร้างค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม และใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ รวมทั้งให้โอกาสประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

              2)    รัฐบาลดิจิทัล งบประมาณ 3,545.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า โดยพัฒนาบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข และคลาวด์กลางด้านระบบงานทั่วไปหรือบริการข้อมูลเปิด (Open Data) รวมถึงการให้บริการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม 10 แพลตฟอร์ม ส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญ อาทิ ความปลอดภัยไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น มีการเชื่อมโยงหน่วยงานและระบบบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ใช้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้  ตลอดจน จัดตั้งทีมรับมือเหตุฉุกเฉินทางคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของภาครัฐ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ  เพื่อยกระดับการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

              3)    การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ 18,892.1 ล้านบาท  เพื่อทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ พัฒนาระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านงานยุติธรรม คำปรึกษาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย  รวมทั้ง พัฒนากฎหมายและกลไกกำกับดูแลด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

              4)    การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณ 30,215.5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐ ให้สามารถติดต่อราชการได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้  โดยสนับสนุนการบูรณาการงานในพื้นที่ และพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ การให้บริการทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนและข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจุบัน และครอบคลุมทุกพื้นที่ สนับสนุนการให้บริการด้านงานทะเบียนและรังวัดที่ดินแก่ประชาชน ไม่น้อยกว่า  13.0 ล้านราย รวมทั้ง การบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และการปรับปรุงระบบภาษีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง  เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณและการติดตามประเมินผล  ตลอดจนสร้างบุคลากรภาครัฐที่เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก และเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพภายใต้หลักระบบคุณธรรม

              5)    การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณ 456,675.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนภารกิจการบริหารจัดการภาครัฐ ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ สนับสนุนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ รวมทั้ง เป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง อาทิ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชย และเงินช่วยเหลือของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

              6)      การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 24,262.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 111,335.2 ล้านบาท เพื่ออำนวยความยุติธรรม  คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับประชาชนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ตลอดจน เพื่อให้การบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในการดำเนินภารกิจของรัฐ

รายการดำเนินการภาครัฐ

              รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  ดังนี้

              แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 248,800.0 ล้านบาท  เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง  รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง

              แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ 

              สำหรับเอกสารประกอบได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 และมาตรา 11 ดังนี้

  1. คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
  2. รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปีที่ล่วงมาแล้ว ปีปัจจุบันและปีที่ขอตั้งงบประมาณรายจ่าย แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 1 (เล่มคาดส้ม)
  3. คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับและวิธีหาเงินส่วนที่ขาดดุล แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 2 (เล่มคาดเขียว)
  4. คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ซึ่งรวมถึงการแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 (เล่มคาดแดง) และฉบับที่ 4 (เล่มคาดเหลือง)
  5. รายงานเกี่ยวกับสถานะทางการเงินโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)
  6. รายงานเกี่ยวกับสถานะเงินนอกงบประมาณและแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณโดยรวมของหน่วยรับงบประมาณ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 7 (เล่มคาดชมพู)
  7. คำอธิบายเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)
  8. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 (เล่มคาดน้ำเงิน)
  9. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

สรุป

              งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท  มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท

              แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา

              การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย

 Advertisement