ครม.เห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ 8 ด้าน

64

Business Highlight Online : 31 กรกฎาคม 2567 ไทยและออสเตรเลียร่วมกันจัดทำ 8 รายละเอียดสาขาความร่วมมือ และวาระการดําเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า)

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยกับออสเตรเลียลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย (MoU between Government of Thailand and the Government of Australia on the Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยภายใต้ SECA กําหนดให้ทั้งสองประเทศร่วมกันจัดทํารายละเอียดของสาขาความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกัน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและออสเตรเลียดำเนินการจัดทำเอกสารรายละเอียดความร่วมมือ และวาระการดำเนินงาน ซึ่งฝ่ายไทย ครม. (30 กรกฎาคม 2567) ได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดความร่วมมือ: เพื่อนําไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และวาระการดําเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) แล้ว โดยรายละเอียดความร่วมมือฯ เป็นเอกสารที่ระบุสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะมีการหารือ พัฒนา/แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ 8 สาขา (1) เกษตร (2) การท่องเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การส่งเสริมการลงทุน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ส่วนวาระการดําเนินงานฯ เป็นเอกสารที่ระบุกิจกรรมความร่วมมือตามสาขาที่ได้มีการระบุไว้ในรายละเอียดความร่วมมือฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย เช่น สาขาเกษตร มีการกําหนดกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับระบบอาหารการเกษตรยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและแลกเปลี่ยนเงื่อนไขด้านการนําเข้า โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น และสาขาการลงทุนระหว่างกัน มีการกําหนดกิจกรรมในการสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจด้านการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับทักษะแรงงานระหว่างกัน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบของฝ่ายไทย เช่น สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สํานักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น

Advertisement