Business Highlight Online : 21 สิงหาคม 2567 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แจงประเด็นข้อกล่าวหา การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ล่าช้าและเกิดช่องว่างการทุจริต ยืนยันใช้ระบบยื่นคำขอใบอนุญาต มอก. ผ่าน e-License ใช้เวลาในการออกใบอนุญาต เฉลี่ยไม่เกิน 4 วันทำการ โดย สมอ. จะขอข้อมูลหลักฐานเพิ่มจากผู้เกี่ยวข้องตามที่ถูกพาดพิง หากพบการกระทำผิด จะดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาด
นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวพาดพิงการทำงานของ สมอ. และเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลว่า การขออนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานานจนเกิดช่องว่างในการทุจริต มีการเรียกรับสินบน จากเจ้าหน้าที่ และการเข้าตรวจโรงงานโดยไม่มีหมายค้นนั้น สมอ. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน สมอ. ใช้ระบบ e-License ในการออกใบอนุญาต จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในออกใบอนุญาต ไม่เกิน 4 วันทำการ เมื่อผู้ประกอบการยื่นผล การตรวจโรงงาน และผลการตรวจสอบสินค้าเข้ามาในระบบ ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตและเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาจะไม่เจอหน้า กัน จึงสามารถป้องกันการทุจริตได้
การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยเฉพาะภารกิจด้านการอนุมัติหรืออนุญาต เพื่อลดโอกาสในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง และปิด ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว โดย สมอ. มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่าง ต่อเนื่อง ครบเต็มรูปแบบ ทุกกิจกรรม ตั้งแต่การยื่นคำขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License เมื่อผู้ประกอบการ ยื่นผลการตรวจโรงงาน พร้อมผลการตรวจสอบสินค้า เข้ามาในระบบครบทั้ง 2 ส่วน ระบบจะใช้เวลาในการออกใบอนุญาต เฉลี่ยไม่เกิน 4 วันทำการ สำหรับการชำระค่าบริการของผู้ประกอบการสามารถชำระผ่านระบบ e-Payment รวมถึงการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการสามารถดำเนินการผ่านระบบ e-Surveillance ได้ ซึ่งเป็นการลด โอกาสในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ สมอ. โดยตรง
ทั้งนี้ สมอ. ยืนยันถึงความโปร่งใส่ในการทำงาน โดยมีรางวัลการประเมิน คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment Awards: ITA Awards) จากสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นเครื่องการันตี ซึ่ง สมอ. ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งตอกย้ำว่า การดำเนินงานของ สมอ. มีความโปร่งใส และเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ เชื่อว่า การที่ถูกกล่าวหา มีความเป็นไปได้ว่า เกิดจากความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ผู้ประกอบการบางรายที่ถูกตรวจสอบและมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานจึงกล่าวพาดพิง สมอ.
นายนนทิชัย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน สมอ. ตรวจสอบพบผู้ประกอบการที่ลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและเป็นสินค้าที่ไม่มี มอก. 431 ราย ในจำนวนนี้ตรวจสอบเบื้องต้นจาก 57 ราย ที่โฆษณาผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จากนั้นจึงขยายผลตรวจสอบพบเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบว่า กว่า 50% ผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติที่มาประกอบกิจการในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายมีใบอนุญาต มอก. แต่ต่อมาลักลอบนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกัน แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับกลุ่มสินค้าที่พบว่า ลักลอบนำเข้าและไม่ได้มาตรฐานมากที่สุดได้แก่ เหล็ก ยางล้อ เครื่องใช้ไฟฟ้า และโภคภัณฑ์ สมอ. ยืนยันว่า การเข้าตรวจค้นสถานประกอบการโดยไม่มีหมายค้น ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจกับ สมอ. ในการกำกับดูแลสินค้าที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยสามารถเข้าไปตรวจสถานที่ผลิต สถานที่เก็บ และสถานที่จำหน่ายสินค้าได้โดยไม่ต้องมี หมายค้น แต่ต้องแสดงบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีผู้ประกอบการเจ้าของสถานที่ร่วมตรวจด้วยทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สมอ. ได้ดำเนินการเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยประสานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอหลักฐานเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบ เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม หากตรวจสอบแล้วพบการกระทำ ผิดจริงตามที่ถูกพาดพิง จะดำเนินการทางวินัยขั้นเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดโดยไม่มีข้อยกเว้น
หากมีข้อสงสัย หรือถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ สมอ. สามารถร้องเรียนได้ทาง https://www.tisi.go.th/website/ about/tisi_corruption รวมถึงทุกช่องทางการติดต่อของ สมอ. ทั้งเว็บไซต์ www.tisi.go.th เฟสบุ๊ค https://www. facebook.com/tisiofficial และติ๊กต๊อกwww.tiktok.com/@tisiofficial หรือ โทร. 02 4306815
Advertisement