ธปท.เผยไตรมาส 2/67 แบงก์กำไรสุทธิ 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7%

23

Business Highlight Online : 27 สิงหาคม 2567 ธปท.เผยไตรมาส 2/67 แบงก์กำไรสุทธิ 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย และ นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2567 ว่าผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน กำไรสุทธิ 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 173,000 ล้านบาท และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 67,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 ปี 2567 โดยรวมขยายตัวชะลอลงที่ 0.3% จากปีก่อน สินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัว ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่อง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลง ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 540.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.84 จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพอร์ตที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง ครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก และธุรกิจในกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff) โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยจากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง อยู่ที่ 90.8% ต่อ GDP แบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อเช่าซื้อ 11% สินเชื่อบัตรเครดิต 3% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ 18% และอื่น ๆ 9%

ส่วนกรณีเลขาฯ สภาพัฒน์ มองว่า หากจะมีมาตรการ hair cut หนี้ ควรเจาะจงกลุ่มนั้น นางสาวสุวรรณี ระบุว่า ธปท.มีความเห็นสอดคล้อง หากมีการ hair cut หนี้ ควรทำเฉพาะกลุ่ม โดย ธปท. มีความเห็นสอดคล้อง โดยจะต้องคำนึงถึง Moral Hazard ที่จะเกิดขึ้น และวิธีการดำเนินการที่ตรงกลุ่ม

Advertisement