Business Highlight Online : 1 ตุลาคม 2567 ธปท.ย้ำดูแลเงินบาทแข็งค่า-ผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบ ส่งผลทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น มองมาตรการแจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง-คนพิการ หนุนกิจกรรมเศรษฐกิจคึกคัก แต่ภาพรวมต้องรอประเมินอีกครั้ง
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว มาจากหลายปัจจัย ทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% มากกว่าที่คาดการณ์ ทำให้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัว บวกกับเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่า และเงินหยวนของจีนแข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามเงินสกุลภูมิภาค แต่ยังมีเงินริงกิต ของมาเลเซีย ที่แข็งค่ามากที่สุดประมาณ 11% ส่วนเงินบาทไทยแข็งค่าในลำดับที่ 2-3 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัจจัยเฉพาะจากรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น การเริ่มดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้น และราคาทองคำก็ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง ธปท.เข้าดูแลในช่วงที่เงินบาทผันผวนแรง เพื่อลดผลกระทบ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นางสาวชญาวดี ยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบกับรายได้ในภาคการส่งออก ส่วนด้านปริมาณการส่งออกขึ้นอยู่กับการตกลงกับประเทศคู่ค้า สำหรับที่มีข้อกังวลผลกระทบเงินบาทต่อภาคการท่องเที่ยวนั้น โฆษก ธปท. กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวกลุ่มไหนมากกว่า เพราะถ้าเป็นนักท่องเที่ยวจีน และมาเลเซีย ค่าเงินประเทศเหล่านี้ก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่มีผลกระทบ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เงินบาทแข็งค่าที่สุดที่เคยเกิดขึ้น
นางสาวชญาวดี ยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 สำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนพิการ ยังต้องรอดูว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากหากนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค หรือนำไปลงทุนต่อ นำไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต แต่ถ้าหากนำไปใช้หนี้หรือซื้อสินค้านำเข้า ก็จะทำให้เงินหลุดออกนอกระบบ แต่สิ่งที่เห็นแน่ ๆ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักขึ้น ส่วนเฟส 2 ยังคงต้องรอดูว่าจะมีเงื่อนไขในการจ่ายอย่างไร
สำหรับภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2567 เศรษฐกิจไทยโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดสินค้าไม่คงทน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องจากความกังวลด้านค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำรวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม
ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า ซึ่งบางส่วนเป็นปัจจัยชั่วคราว การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง และรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ประกอบกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากทั้งผลของฐานสูงในปีก่อนและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารตามราคาอาหารสำเร็จรูป สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ในระยะต่อไป ต้องติดตาม การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออก ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
Advertisement