Business Highlight Online : 2 เมษายน 2568 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมิน ณ 1 เมษายน 2568 แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2568 มีผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจะกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง
SCB EIC ระบุแม้เราจะควบคุม After shock ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้ แต่นโยบายสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยลด After shock ทางความรู้สึกของประชาชน และช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจตามมาได้ จากที่ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยจำกัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเร็วในระยะสั้น จากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อสถานการณ์ความปลอดภัยในประเทศไทย หลังข่าวแผ่นดินไหวได้แพร่กระจายออกไปทั่วโลก โดยประเมินในกรณีฐานว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะปรับลดลง 4 แสนคน และสูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.1 หมื่นล้านบาท ภายใต้สมมติฐานผลกระทบจะรุนแรงในเดือนเมษายน และจะใช้เวลาฟื้นตัวให้กลับมาเติบโตได้ตามปกติราว 3 เดือน คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนจะลดลงราว 12%
โดยการท่องเที่ยวสะท้อนจากตัวเลขการยกเลิกห้องพักในช่วง 2 วันที่ผ่านมาของสมาคมโรงแรมไทยที่มีการยกเลิกห้องแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ และจากข้อมูลของผู้ประกอบการโรงแรมห้องพักที่ถูกยกเลิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่ด้านสมาคมสายการบินประเทศไทย ระบุว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตัวเลขการจองที่นั่งโดยสารรายวันลดลงเฉลี่ย 40-60% นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งยังเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศออกประกาศเตือนด้านความปลอดภัยกับพลเมืองที่จะเดินทางมาไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และแคนาดา
ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม จะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กำลังจะโอน หรือซื้อ โดยอาจชะลอการโอนหรือซื้อออกไปเนื่องจากยังต้องการความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงการซ่อมแซมความเสียหายเชิงสถาปัตยกรรมของห้องพัก พื้นที่ส่วนกลาง และตัวอาคาร ก่อนการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ หรือซื้อ ในขณะที่กลุ่มผู้ลงทุนในคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มชะลอการลงทุนจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น ราคาขายต่อของคอนโดมิเนียม การย้ายออกของผู้เช่ากลุ่มที่มีความกังวลอาจหันไปเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบแทน ซึ่งจะทำให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมหดตัว รวมถึงการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปีนี้จะหดตัวต่อเนื่อง คาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี68 มีแนวโน้มอยู่ที่ 8.5 หมื่นหน่วย หดตัว 0.8% ต่ำกว่ามุมมองเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6%
สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และกำลังผ่อนชำระค่างวด โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่าง จะยังมีแนวโน้มอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และผ่อนชำระค่างวดต่อไป เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการเงินในการย้ายที่อยู่อาศัย หรือซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่ม
ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกบ้านทันท่วงที ช่วยคลายความตื่นตระหนกสำหรับลูกบ้านได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เช่น การลดค่างวดหรือพักชำระเงินต้นสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และการออกสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จะช่วยประคับประคองไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของการผ่อนชำระค่างวด รวมถึงสามารถดำเนินการซ่อมแซมห้องพักให้สามารถกลับมาอยู่อาศัยได้ตามปกติ โดยตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มได้อานิสงส์บางส่วนจากกลุ่มที่มีความกังวลในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และมีความพร้อมทางการเงินในการย้ายไปที่อยู่อาศัยแนวราบ หรือสามารถซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปี 2025 จะยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันให้หน่วยเหลือขายสะสมคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2025 ยังอยู่ในระดับสูงราว 74,000 หน่วย การก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่หยุดชะงัก ประกอบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างจะได้รับอานิสงส์จากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติของสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นปัจจัยที่ผู้ว่าจ้างให้ความสำคัญ รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีแนวโน้มเผชิญความเข้มงวดจากผู้ว่าจ้างมากขึ้น ตั้งแต่การเข้าประมูล การก่อสร้าง จนถึงขั้นตอนตรวจรับงาน ส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคก่อสร้างตามมา
ภาพรวม ผลต่อเศรษฐกิจยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงเพิ่มเติมไปกว่านี้ ดังนั้น ภาครัฐต้องรีบให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเรียกความเชื่อมั่นของสาธารณะกลับมาด้วยการเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอย่างเป็นระบบ พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที พร้อมทั้งการสื่อสารที่ชัดเจนรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทำงานเป็นองค์รวม
Advertisement
