คลังเตรียมกระสุน 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ

9

Business Highlight Online : 23 เมษายน 2568 คลังเตรียมกระสุน 5 แสนล้านบาท อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งปรับงบปี 69 แบงก์รัฐปล่อยกู้ กู้เงินในระบบ หวังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้านปลัดคลัง ไม่ห่วงแม้หนี้สาธารณะพุ่ง 80% จีดีพี

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างร่วมพิธีเทวาภิเษก “พระคลังในพระคลังมหาสมบัติ” ครบรอบ 150 ปีว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากปัญหาสงครามทางการค้า จนกระทบไปหลายประเทศทั่วโลก ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และหน่วยงานอื่นๆ ปรับลด GDP ไทยเติบโตร้อยละ 1.8 ในปี 68 จากเดิมร้อยละ 2.5-3 หรือค่ากลางร้อยละ 2.8 คลังคาดหวังไตรมาสแรกปี 68 จีดีพีอาจโตร้อยละ 3 ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ต้องเร่งแก้ปัญหาการนำเข้า-ส่งออก ด้วยการเจรจากับสหรัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านหลายมาตรการ ด้วยการอัดฉีดเงินสู่ระบบ 5 แสนล้านบาท

ขณะนี้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาหามาตรการที่เหมาะสม ใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่พอ และตอบสนองความต้องการของประชาชน เอสเอ็มอี ภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดทางการลงทุนเพิ่ม เกิดการจ้างงานเพิ่ม ทดแทนรายได้การส่งออกที่มีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อกำหนดแผนการลงทุนให้ชัดเจน จะทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมทั้งทำเลที่ตั้ง พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี พืชเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

“รัฐบาลจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับหลายฝ่าย เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาทั้งต้มยำกุ้งในปี 40 ปัญหาโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา เมื่อร่วมมือร่วมใจกัน ไทยยังฟันฝ่ามาได้ ปัญหาจากจาก “ทรัมป์” ครั้งนี้ เจอกันทุกประเทศทั่วโลก มองว่าเราจะผ่านปัญหานี้ไปได้ คาดว่าจะสรุปมาตรการทั้งหมดในเร็ว ๆ เพื่อปรับแผนโอนเงิน การลงทุน ช่วยกลุ่มเป้าหมาย นำหลายด้านมาดูร่วมกัน หวังเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผ่านการอัดฉีดเงินฟื้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท” นายพิชัย กล่าว

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังและสภาพัฒน์ กำลังเร่งศึกษาหามาตรการมาฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านการฟื้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 68/69 เพราะขณะนั้นยังไม่มีปัญหา สงครามเศรษฐกิจ ทรัมป์ขึ้นภาษี แนวทางการใช้แบงก์รัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ การจัดหาแหล่งเงินนอกงบประมาณ หรือการกู้เงินในประเทศ ที่มีสภาพคล่องยังสูงอยู่ เพราะกฎหมายยังให้อำนาจกู้เงินเพิ่มเติมได้

“ยอมรับว่า การกู้เงิน หรือใช้เงินอัดฉีดสู่ระบบครั้งนี้ 5 แสนล้านบาท อาจทำให้หนี้สาธารณะจากปัจจุบันร้อยละ 64 ของจีดีพีเพิ่มเป็นร้อยละ 80 ของจีดีพี เพราะการเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัว แต่เป็นต้องดูว่า เรานำไปใช้ทำอะไร จะหาแหล่งเงินมาอย่างไร มีแผนใช้คืนอย่างไร ต่างชาติเขามองตรงนี้ ไม่ใช่เป็นหนี้ 60-70 % ของจีดีพี แล้วบอกว่าดี หากเพิ่มเป็น 80% แล้วบอกว่าอันตราย มันไม่เกี่ยวกัน เพราะหลายประเทศหนี้สาธารณะสูง แต่บริหารจัดการได้ เขาดูถึงแผนการใช้หนี้และทำเงินไปทำอะไร” นายลวรณ กล่าว

Advertisement