คลังคาด จีดีพีปี 68 โตร้อยละ 2.1

8

Business Highlight Online : 1 พฤษภาคม 2568 ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ – “คลัง” คาดจีดีพีปี 68 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เหตุนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้า “ทรัมป์” เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มุ่งติดตามปัจจัยเสี่ยง การค้าโลก ตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวนหนัก จากนโยบายไม่แน่นอน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า คลังคาดว่าจีดีพีไทยในปี 68 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.6 ถึง 2.6) สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เมื่อการท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว อาจต้องใช้แผนการคลังระยะปานกลาง กระตุ้นการบริโภค โครงการลงทุนระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เมษายน 2568 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าคาดว่าทรงตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี สอดคล้องกับความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตสำหรับส่งออก มองว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ยังคงมีความไม่แน่นอนและมีโอกาสเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าอย่างมาก มี จำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าของไทยอย่างใกล้ชิด

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 68 ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี ตามกำลังซื้อในประเทศและรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว คาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 36.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2568 มีแนวโน้มเกินดุล 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP จากดุลการค้าที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง

ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ ในกรณีสูง (High Case) มีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปรับลดภาษีนำเข้าของไทยและประเทศอื่นๆ ลดลงอยู่ที่อัตราร้อยละ 10 จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเป็นร้อยละ 2.5 กระทรวงการคลังได้เตรียมตัวรับมือและบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1) ดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย 2) เตรียมแหล่งเงินเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท ผ่านการดำเนินนโยบายการคลังให้มีขนาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง อันเนื่องมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 3) เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี 2568 เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4) ผลักดันความช่วยเหลือผู้ส่งออกผ่าน EXIM Bank และ 5) บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการดูแล กลุ่มเปราะบางและกิจการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้

กระทรวงคลัง ยังติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) นโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศจีน 2) ทิศทางของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ 3) การไหลเข้าของสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษีที่ย้ายตลาดเข้าสู่ไทยมากขึ้น 4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ 5) การย้ายฐานการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านภาษี 6) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และ 7) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

Advertisement