สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 3

11

Business Highlight Online : 18 พฤศจิกายน 2567 สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 3 คาดสิ้นปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ส่วนปี 68 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2.8 จับตานโยบายเศรษฐกิจ “ทรัมป์” ห่วงหนี้ครัวเรือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาส 2 ปี 67 ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยหลายตัว เริ่มขยายตัวดีขึ้น ทั้งการบริโภคเอกชน เติบโตร้อยละ 3.4 การลงทุนโดยรวมขยายตัวร้อยละ 5.2 โดยภาครัฐลงทุนเพิ่มร้อยละ 25.9 จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.9 คาดว่าจีดีพีแนวโน้มไตรมาส 4 ยังขยายตัวต่อเนื่อง

บีโอไอได้เร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริง ทำให้ภาคก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยเฉพาะการก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการส่งออก ขณะที่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ยังชะลอตัว การใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 58.37 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานร้อยละ 1.02 ทุนสำรองระหว่างประเทศ 243,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะร้อยละ 63.6 ของจีดีพี จึงคาดการณ์จีดีพีในปี 67 ทั้งปีขยายตัวร้อยละ 2.6 จากเดิมตั้งเป้าหมายเดิมร้อยละ 1.9 ในช่วงไตรมาสก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.5 เกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 2.5 ของจีดีพี

ส่วนจีดีพีในปี 68 ขยายตัวร้อยละ 2.3-3.3 ค่ากลางร้อยละ 2.8 มาจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคร้อยละ 3 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.6 ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ3.8 ในปี 67 เงินเฟ้อคาดกรอบร้อยละ 0.3-1.3 จับตาปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ ”ทรัมป์“ ในการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศต่าง ๆ จะมีความรุนแรงอย่างไร และเพิ่มภาษีสินค้าอะไรบ้าง และระยะเวลาปรับเพิ่มในช่วงใด รวมทั้งปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าจีน จากสินค้าราคาถูก ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ ปัญหาหนี้ครัวเรือน อยู่ในระดับสูง ขณะนี้คลัง-ธปท. กำลังหามาตรการมาช่วยแก้ปัญหา ต้องเหลือกลุ่มเปราะบาง

รัฐบาลต้องผลักดันการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในปี 65-67 การดูแลผลกระทบต่อภาคเกษตร การเร่งรัดส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง สำหรับการโอนเงินให้กลุ่มเปราะบางในช่วงสิ้นเดือนกันยายน จะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ส่วนกระทรวงการคลัง เตรียมช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุในปลายปีนี้ ต้องดูรูปแบบการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง สำหรับการโอนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ในปีหน้า ต้องดูช่วงเวลาให้เหมาะสม และดูสถานการณ์ในช่วงถัดไป เพราะมีความเสี่ยงหลายด้านจำนวนมาก ดังนั้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง

Advertisement