รองโฆษก รบ.เผย บสย. ขานรับนโยบายรัฐบาล ช่วย SMEs “แก้หนี้ เติมทุน เสริมสภาพคล่อง” ตั้งเป้ากว่า 5,000 ราย

18

Business Highlight Online : 20 ธันวาคม 2567 “ศศิกานต์“ เผย บสย. ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าช่วย SMEs “แก้หนี้ เติมทุน เสริมสภาพคล่อง” ตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย

วันนี้ (20 ธันวาคม 2567) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เสริมสภาพคล่อง แก้หนี้ยั่งยืน โดยผนึกความร่วมมือกับ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 มิติ ได้แก่

1.สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ 2. ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกันของ บสย. และถูกจ่ายเคลมจากสถาบันการเงิน ให้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ ภายใต้โครงการ “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ในคอนเซ็ปต์ “ช่วยคิด ช่วยแก้ ช่วยจบ” โดยจัดเตรียมกิจกรรม “3 เช็ค 3 แนะ 3 ช่วย” เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs อย่างครบวงจร อาทิ ตรวจสุขภาพทางการเงิน  ตรวจเครดิตบูโร วิเคราะห์วงเงินสินเชื่อเบื้องต้น, แนะนำบริการ E consent E KYC ผ่าน LINE OA และช่วย SMEs แก้หนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” เป็นต้น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ มุ่งไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า ที่เข้ามาใช้บริการในโลตัส ครอบคลุมทั้งภาคบริการ การผลิต อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ บสย. ให้การค้ำประกันคิดเป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ตค้ำประกันทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีสัดส่วนการค้ำประกันในอันดับต้นๆ โดยในปี 2567 (ม.ค. – พ.ย. 2567) มียอดค้ำประกันกลุ่มธุรกิจการเกษตร อยู่ในอันดับที่ 4 คิดเป็น 8.9% โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อกว่า 4,280 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนผ่าน LINE OA : @tcgfirst หรือสามารถลงทะเบียนที่บูธกิจกรรม “บสย. พร้อมค้ำ พร้อมช่วย” ที่จะเดินสายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2568 โดย บสย. ได้จัดเตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” อีกกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs และกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมรองรับการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงิน) สามารถปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บสย. ยังได้ขยายระยะเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” ไปอีก 1 ปี ถึง 31 ธันวาคม 2568 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2567 ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น ช่วย SMEs ลด ปลดหนี้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น รองรับกับความสามารถในการชำระหนี้ 3 ระดับ (ม่วง เหลือง เขียว) อาทิ มาตรการสีม่วง “ลูกหนี้ดี ไม่มีแรงผ่อน” ตัดเงินต้นเพิ่มเป็น 50% จากเดิมตัดเงินต้น 20% และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 10% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 12 งวด, มาตรการสีเหลือง “ลูกหนี้ผ่อนดี มีศักยภาพ” เพิ่มระยะเวลาผ่อนจาก 5 ปี เป็น 7 ปี และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 10% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 12 งวด และมาตรการสีเขียว “ลูกหนี้ดี มีวินัย” ตัดเงินต้นทั้งจำนวน และสามารถปลดหนี้ ลดต้น 15% เมื่อจ่ายต่อเนื่อง 6 งวด เป็นต้น

“ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน บสย. ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 17,934 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 11 เดือน จำนวน 3,482 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,718 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement