ยอดผลิต-ยอดขาย รถยนต์ พ.ย. ตกฮวบ แบงก์เข้มสินเชื่อ เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ

8

Business Highlight Online : 24 ธันวาคม 2567 แบงก์เข้มสินเชื่อ เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ ฉุดยอดผลิตรถยนต์ พ.ย.67 หดตัวมากถึง 28.23% ส่วนยอดขายลดลง 31.34% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าผลิตได้ 464 คัน เพิ่มขึ้น 46,400% กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.มองการควบรวมนิสสัน-ฮอนด้า เป็นโอกาสของไทย โดยเฉพาะการลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าเดือนพฤศจิกายน 2567 ผลิตรถยนต์ได้ 117,251 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.23 จากการผลิตส่งออกลดลงร้อยละ 20.67 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 40.42 และลดลงจากเดือนตุลาคม 2567 ร้อยละ 1.34 ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 11 เดือน (มกราคม – พฤศจิกายน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,119 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 20.14 เมื่อดูตัวเลขเฉพาะรถยนต์นั่ง พบว่า ผลิตได้ 45,491 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 24.68 โดยแบ่งเป็น

ICE จำนวน 28,876 คัน ร้อยละ 32.04

BEV จำนวน 464 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46,400

PHEV จำนวน 386 คัน ลดลง ร้อยละ 48.53

HEV จำนวน 15,765 คัน ลดลง ร้อยละ 8.11

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ผลิตได้ 80,022 คัน เท่ากับร้อยละ 68.25 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 20.67 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลิตได้ 37,229 คัน เท่ากับร้อยละ 31.75 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ร้อยละ 40.42 และเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 ผลิตได้ 422,181 คัน เท่ากับร้อยละ 30.95 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 33.48

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ เดือนพฤศจิกายน มีทั้งสิ้น 42,309 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ร้อยละ 12.25 แต่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ร้อยละ 31.34 จากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาสสามของปีนี้ แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนพฤศจิกายน ส่งออกได้ 89,646 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 6.30 แต่ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ร้อยละ 10 เพราะปีที่แล้วฐานสูงและสงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายไปหลายพื้นที่ทำให้จำนวนเที่ยวเรือมารับรถน้อยลงรวมทั้งหลายประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ชะลอตัวลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ส่งออกเพิ่มขึ้นตลาดอเมริกาเหนือแห่งเดียว เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 942,867 คัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 8.21

ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพฤศจิกายน จดทะเบียนใหม่จำนวน 7,354 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 34.86 ส่งผลให้เดือนมกราคม – พฤศจิกายน มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 89,658 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 0.94 ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,409 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 11.76 และยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 768 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วร้อยละ 2.17 2567 ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 พฤศจิกายน มีจำนวนทั้งสิ้น 220,439คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 82.61 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 942,717.96 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 1.37

“ยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้น่าจะได้ 5.8 แสนคัน – 6 แสนคัน แม้ยอดจองในงาน Motor Expo 2024 จะสูงกว่าปี 2566 แต่ต้องจับตาว่า สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้มากแค่ไหน หากรัฐออกมาตรการสนับสนุนตามที่กกร. เสนอ คือค้ำประกันรถยนต์ 50,000 ล้านบาท แลกกับการปล่อยสินเชื่อมากกว่าปีนี้ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้นแน่นอน ส่วนการควบรวมกิจการระหว่างนิสสันกับฮอนด้า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีการลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะการลงทุนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสที่มาสร้างในไทย ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบะรถสันดาปเพื่อส่งออกไปยังทั่วโลก” นายสุรพงษ์ กล่าว

Advertisement