ส่งออก พ.ย. โต 8.2% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง

12

Business Highlight Online : 25 ธันวาคม 2567 ก.พาณิชย์ – ส่งออกไทย พ.ย.67 มูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (849,069.3 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 8.2% แต่ส่งออกข้าว หดตัว 20.6% หดตัวในรอบ 6 เดือน รวม 11 เดือนแรกปี 67 ขยายตัว 5.1% คาด คาดทั้งปีจะทำนิวไฮ ส่วนปี 68 คาดขยายตัว 2-3%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการค้า เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยการส่งออก มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (849,069.3 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (867,456.4 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 0.9 ดุลการค้า ขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ( 18,387.1 ล้านบาท) ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญ สหรัฐ ( 9,695,455 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,032,550 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (337,096 ล้านบาท)

โดยมีปัจจัยการขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบที่เติบโตในระดับสูงขยายตัวร้อยละ 40.8 โดยขยายตัวต่อเนื่องแปดเดือน ในตลาดสหรัฐจีนเยอรมันญี่ปุ่นและมาเลเซียสอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลของโลก

ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่างๆเพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และตุรกี) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 44.8 กลับมาขยายตัว ในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 20.6 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน เนื่องจากประเทศที่สั่งซื้อข้าวมีการสตอกข้าวไว้พอสมควรแล้วอาทิฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย ขณะที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวรวมถึงประเทศคู่แข่งไทยส่งออกข้าวในราคาที่ถูกกว่า

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้าท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าในอนาคตโดยภาพรวมตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 8.3 ตลาดรองขยายตัวร้อยละ 7.1 และตลาดอื่นๆขยายตัวร้อยละ 29

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป

Advertisement