Business Highlight Online : 21 กุมภาพันธ์ 2568 ปตท.ยันแม้กำไรปี 67 หดตัว แต่เพิ่มเงินปันผล ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล พร้อมเดินหน้าสร้างผลประกอบการให้ดีขึ้นด้วยแผนงานลดต้นทุนรอบด้าน หาโอกาสทางธุรกิจ ยืนยันธุรกิจโรงกลั่น-ปิโตรเคมี ไม่มีการควบรวมกิจการ แต่หาพันธมิตรเสริมแกร่ง กำลังพูดคุยหลายราย และไม่มีแผนซื้อหุ้นคืน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ผลประกอบการ ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลงจากปี 66 ราว 19.6% ประกอบกับมีกระแสเงินสดราวกว่า 1 แสนล้านบาท คณะกรรมการ ปตท.มีมติจ่ายเงินปันผลปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.6 และคิดเป็น Dividend Payout Ratio หรือ อัตราส่วนเงินปันผลต่อกำไรที่ ร้อยละ 67 นับเป็นอัตราจ่ายสูงสุดตั้งแต่ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นส่วนช่วยทั้งภาครัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีเงินเข้ารัฐมากขึ้น และช่วยให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นดีขึ้น เป็นหนึ่งในนโยบาย ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล
ทั้งนี้ บอร์ด ปตท.วานนี้ (20 ก.พ.) อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 2.10 บาท จำนวน 28,562,996,250 หุ้น รวมเป็นจำนวน 59,983 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท ที่ ปตท.ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 22,851 ล้านบาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายสำหรับผลประกอบการครึ่งหลังของปี 2567 อีกในอัตราหุ้นละ 1.30 บาท คิดเป็นจำนวนเงิน 37,132 ล้านบาท โดยมีมติกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 7 มีนาคม 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งหลังของปี 2567 ในวันที่ 29 เมษายน 2568



นายคงกระพัน กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ปตท. ปี 2567 ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งในและต่างประเทศ แรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่มากเกินความต้องการในธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยปีที่ผ่านมา ปตท.ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่กลับมาเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทบทวนกลยุทธ์ Non-Hydrocarbon เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มี Synergy ในกลุ่ม ปตท. เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บริหารต้นทุน ด้วยการทำ Operational Excellence ทั้งกลุ่ม ปตท. นำ digital มาใช้ นอกจากนี้ มุ่งดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
“ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เกิดจากบริหารจัดการและรวมพลังในองค์กร มีกำไรหลักมาจากธุรกิจ Upstream แม้ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ มาชดเชยกับธุรกิจ Downstream ที่ได้รับความกดดันจากปัจจัยด้านราคา แต่เรื่องสำคัญคือการบริหารต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงการบริหารรายการพิเศษและบริหารผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินกู้ได้ดี” นายคงกระพัน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2567 ธุรกิจ Hydrocarbon and Power ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างผลตอบแทนให้กับ ปตท. ประกอบด้วย การลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิต ผ่าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) โดย ปตท.สผ. สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จาก อ่าวไทยสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 10 ในโครงการสัมปทานกาชา (Ghasha Concession Project) หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,ธุรกิจ LNG มีปริมาณการนำเข้า LNG ทั้งสัญญาระยะยาว และสัญญาแบบ Spot รวม 9.6 ล้านตันต่อปี, ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย สร้างมูลค่าเพิ่ม 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากความร่วมมือภายในกลุ่ม ตามโครงการ P1 และโรงกลั่นได้ปรับการผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายของภาครัฐ
ธุรกิจไฟฟ้า มีกำลังการผลิตเพิ่มเติม (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) รวมทั้งหมด 15 GW โดยหลักมาจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ สำหรับธุรกิจ Non-Hydrocarbon ได้ทบทวนกลยุทธ์ เน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม ปตท. โดย EV ธุรกิจมุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมกับ OR ที่มีความพร้อมของ Ecosystem สำหรับ Life Science เป็นธุรกิจที่ดี แต่ต้องขับเคลื่อนได้ด้วยธุรกิจเอง self-funding มีผู้เชี่ยวชาญ ปีที่ผ่านมารับรู้รายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท Alvogen Malta (Out-licensing) Holding Ltd. มูลค่า 4,500 ล้านบาท ของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด สำหรับ Logistics ออกจากธุรกิจไม่สอดคล้องกับ ปตท. มุ่งเน้นที่สามารถต่อยอดและมี Synergy ภายในกลุ่ม ปตท.
“ปตท.เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร กำลังคัยกับหลายรายในการมาเป็นพันธมิตรในบริษัทลูกด้านโรงกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งต้องบริษัทที่แข็งแกร่งมาเสริม ปตท.อาจเป็นด้านวัตถุดิบ ด้านตลาด ด้านเทคโนโลยี โดย ปตท.จะยังคงสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ในบริษัทลูก ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีแผนควบรวมกิจการในบริษัทลูกแต่อย่างใด และในขณะนี้ยังไม่มีแผนซื้อหุ้นคืนใน SET แม้ว่า ปตท.จะมีกระแสเงินสดกว่าแสนล้านบาท และรวมทั้งกลุ่มมีกระแสเงินสดรวมกว่า 4 แสนล้านบาท” นายคงกระพัน กล่าว
นอกจากนี้ ปตท.ยังเสริมความแข็งแกร่งตามแผนงานใหม่ EBITDA Uplift มีแผนทั้งระสั้น ,กลางและยาว เป็นไปตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ NET ZERO โดยระยะสั้น ปรับโครงสร้างธุรกิจตามแผนงาน , การเพิ่มมูลค่าต่อยอดความร่วมมือของบริษัทในเครือจาก P1 ที่ร่วมกันบริหารนำเข้าน้ำมัน ก็เป็นความร่วมมือบริหารจัดการด้านผลิตภันฑ์ภายในประเทศร่วมกัน โครงการ D1 ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่า 3,300 ล้านบาท/ปี ภายใน 3 ปี , โครงการ Mission X การจัดการปรับปรุงการผลิตและอื่นๆของแต่ ละบริษัทตั้งเป้าหมาย เพิ่ม EBITDA ของของกลุ่มรวม 3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการดำเนินการของ ปตท. 1 หมื่นล้านบาท และโครงการ Digital Transformation เพิ่มประสิทธิภาพ รวม 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 ส่วนแผนระยะกลาง คือปรับโครงสร้างหาพันธมิตร ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น และโครงการ LNG HUP และระยะยาวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage / CCS) รวมถึงการลงทุนธุรกิจไฮโดรเจน
“ปีนี้ยังคงท้าทาย ปตท.ติดตามผลกระทบทุกด้านรวมทั้งการขึ้นภาษีของสหรัฐ โดยมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องสร้างความแข็งแรงภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ พิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ส่วนการดูแลค่าไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาร่วมดูแลสังคม ดูแลต้นทุนพลังงานตั้งแต่ปี 63-67 รวม 2.8 หมื่นล้านบาท ส่วนการที่ รมว.พลังงาน จะขอความร่วมมือปรับราคา Pool Gas นั้นยังไม่ได้รับการติดต่อ” นายคงกระพัน กล่าว
Advertisement
