“อุตตม” นำทัพนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายไปดู “อีอีซี”

1302

business highlight online : เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนกว่า 500 ราย ร่วมรับฟังนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมสำรวจพื้นที่ที่เอื้อต่อการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันวิทยสิริเมธี จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะผลักดันยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุตสาหกรรม การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกด้วยการใช้พื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างด้านอื่นๆของประเทศ ซึ่งในช่วง 6 เดือนตั้งแต่มีนาคม – สิงหาคมที่มีการจัดตั้งสำนักงาน EEC ขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น ภาพของโครงการก็เริ่มมีความชัดเจนและเริ่มเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้กำลังเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลัก เพื่อให้มีความพร้อมต่อการลงทุนเร็วที่สุด ได้แก่ 1.การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3  2.การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 3.การพัฒนา 3 ท่าเรือ 4.โครงการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 5.การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของการจัดตั้งโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ (มี.ค. – ก.ค.) ได้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,400 ล้านบาท เป็นคำขอใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท และมีการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีก 1,466 ไร่ ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง ที่อยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับขั้นตอนการติดตามและชักชวนนักลงทุนยังได้มีการเสนอนโยบายไปยังธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ อาทิ บีเอ็มดับเบิ้ลยู นิสสัน หัวเหว่ย ซัมซุง อาลีบาบากรุ๊ป ฟูจิฟิล์ม แอร์เอเชีย สำหรับกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างทำการศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดโครงการลงทุนร่วมกับนักลงทุนนั้น ได้แก่ โบอิ้ง และแอร์บัส และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนในเดือนมีนาคม 2561 ส่วนทางด้านลาซาด้ากรุ๊ป ได้มีการจัดทำมาตรการส่งเสริมแล้วเสร็จและกำลังอยู่ระหว่างเจรจารอบสุดท้าย และในส่วนของการประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลในการชักชวนให้เกิดการลงทุนใน EEC ดิจิทัลพาร์ค ยังคาดว่าจะมีทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม คาเลสติก้า ลงนามความร่วมมือในเดือนกันยายนปี 2560

เศรษฐกิจนโยบาย : “อุตตม” นำทัพนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายไปดู “อีอีซี”

business highlight online : post 14 กันยายน 2560 เวลา 23.50 น.