“ประยุทธ์” เป็นสักขีพยานพิธีลงนามสัญญากรอบการร่วมทุนระหว่างการบินไทย กับ Airbus

1435

business highlight online : นายกรัฐมนตรีหารือกับประธานบริษัท Airbus Commercial Aircraft เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 12.00 น. ณ บริษัท Airbus Commercial Aircraft  เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายกีโยม โฟรี (Mr. Guillaume Faury) ประธานบริษัท Airbus Commercial Aircraft  โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก ร่วมหารือด้วย

ภายหลังการหารือ พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

Mr G. faury ซึ่งเป็น President Commercial Aircraft ของบริษัท Airbus ได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ และย้ำถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง บริษัท Airbus และประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่แนบแน่นและยาวนาน ก่อให้เกิดประโยชน์จากความร่วมมือทั้งสองฝ่ายมาตลอด พร้อมชื่นชมพัฒนาการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาล และยังมีโอกาสที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือและการเติบโตไปด้วยกันอีกมากในอนาคต

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสำเร็จของบริษัท Airbus ในการเป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตเครื่องบิน เครื่องบิน Airbus ก็ได้รับความนิยม มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ สายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 100 สาย รวมถึงการบินไทยด้วย ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายด้านคมนาคมที่เชื่อมต่อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค หรือเป็น gateway และศูนย์กลางการบินของภูมิภาค รวมทั้ง ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และการจัดหาเครื่องบินซึ่งมีอยู่ในแผนแล้ว และเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้ยังจะเชื่อมต่อไปถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย

รัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC  โดยจะมีการพัฒนาและขยายการเชื่อมโยงครบทั้งระบบ บก น้ำ อากาศ รวมถึง Smart City และ Industrial Park ซึ่งโครงการขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนใน 5 ปี และสูงสุดถึง 60  ล้านคนในอนาคต

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดขึ้นโดยเร็วภายในรัฐบาลนี้ และขอให้มั่นใจว่า โครงการจะได้รับการสนับสนุนและสานต่อ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีรองรับอยู่

นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความยินดีที่วันนี้จะมีการลงนาม Joint Venture Company Principles Agreement ของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยบริษัท Airbus ตัดสินใจสร้างบริษัทร่วมทุนเพื่อบริการซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัท การบินไทย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอากาศยานและการบินอย่างเต็มที่ เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีร่วมพิธีเปิดตัวแบบจำลองศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน  (Maintenance, Repair and Overhaul – MRO) และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กับ นาย Eric Schulz รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาด (Executive Vice President, Chief of Sale) กรรมการบริษัท Airbus Commercial Aircraft

การลงทุน / อุตสาหกรรม : “ประยุทธ์” เป็นสักขีพยานพิธีลงนามสัญญากรอบการร่วมทุนระหว่างการบินไทย กับ Airbus

business highlight online : post 23 มิถุนายน 2561 เวลา 22.42 น.