ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้อย่างไร

1034

business highlight online : 5 กรกฎาคม 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการเสวนาเรื่อง “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ว่า การเสวนาดังกล่าว เกิดจากการที่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเกษตร ได้ร่วมกันพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกระจัดกระจายอยู่ในหลายยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคง จึงได้พิจารณาว่าน่าจะได้มีการรวบรวมข้อคิดเห็นจากหลายฝ่าย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เสนอต่อรัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรและประเทศชาติโดยรวม ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปฏิบัติได้

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เกิดขึ้นเพราะเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 ตามมาตรา 65 ซึ่งระบุว่า รัฐพึงจัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทาแผน และนโยบายต่างๆของรัฐบาล ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ยังได้ระบุด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารประเทศได้ ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายนั้นต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา และได้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มียุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เป็นการเฉพาะ แต่การพัฒนาด้านการเกษตรได้กระจายอยู่ในหลายยุทธศาสตร์ โดยมีการกล่าวถึงมากที่สุดในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 – 2579 รวมทั้งแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ.2560 – 2564 เอาไว้ด้วย ควบคู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีผลผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานในการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเน้นการพัฒนาให้เกษตรกรทุกคน และทุกสถาบันเกษตรกร เป็น Smart Farmer Smart Group และ Smart Enterprise พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ 390,000 บาท/คน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นการพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยกำหนดไว้ว่า GDP ภาคเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร พัฒนาผลงานวิจัยไปสู่การผลิตนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายว่าผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะได้รับการพัฒนาต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 80 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรปีละ 2 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 49.52 ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ พัฒนาให้บุคลากรของรัฐเป็น Smart Officer และ Smart Researcher เชื่อมโยงการทำงานทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยการปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปรับปรุงกฎหมายด้านการเกษตรให้ทันสมัย ซึ่งทั้ง 5 ยุทธศาสตร์นี้ คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการให้บรรลุผลใน 20 ปีข้างหน้า

“การพัฒนาภาคการเกษตรจาก 3.0 ไปสู่ 4.0 เพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีการจ้างแรงงาน และเป็นต้นแบบของประเทศอื่น โดยปัจจุบันภาคการเกษตรไทยยังมีปัญหาและช่องว่างอยู่ในเรื่องความเหลื่อมล้ำของภาคการเกษตร เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างต่ำ และเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากภาคเกษตรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ รวมถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แต่ภาคเกษตรไทยยังเป็นความหวังของไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต” นายลักษณ์ กล่าว

การเกษตร : ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้อย่างไร

business highlight online : post 5 กรกฎาคม 2561 เวลา 18.12 น.