อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับดีขึ้นอีก 1 อันดับ

499

business highlight online : ครม. รับทราบ ไทยขยับอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นอีก 1 อันดับ อยู่ที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ครองอันดับ 3 ในอาเซียน

22 มิ.ย.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  รับทราบรายงานสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development) หรือ IMD ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อวันที่  17 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยไทยนั้นมีอันดับที่ดีขึ้น ขยับมา 1 อันดับ จากปี 2563 มาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ ทั้งนี้ ผลจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้คะแนนสุทธิเฉลี่ยของทั้ง 64 เขตเศรษฐกิจลดลงจาก 71.82 ในปี 2563 เหลือเพียง 63.99 จากคะแนนเต็ม 100 ในปี 2564 โดยไทยยังคงมีคะแนนสุทธิในปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยอยู่ที่ 72.52  ลดลงเล็กน้อยจาก 75.39 ในปี 2563 และเมื่อมองภาพรวมในอาเซียน ไทยยังคงรักษาระดับอยู่ที่อันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ โดยอันดับที่ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ (ลดลง4 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 5) อันดับที่ 2 มาเลเซีย (ดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 25) อันดับที่ 3 ไทย อันดับที่ 4 อินโดนีเซีย (ดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 37) และอันดับที่ 5 ฟิลิปปินส์ (ลดลง 7 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 52)

ทั้งนี้  การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย IMD  ระหว่างปี 2563 และ2564 พบผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ เป็นผลจากภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐที่มีการปรับตัวดีขึ้น และการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีการปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ เนื่องจากความพยายามของภาครัฐและภาคธุรกิจที่สนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรให้อยู่รอดในตลาดแรงงาน สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการศึกษา (Infrastructure) ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีการปรับลดลงถึง 7 อันดับ โดย สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การค้าและการลงทุนของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการส่งออกสินค้าและสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลดลงของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลจากการส่งออกภาคบริการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักที่มีอันดับลดลงค่อนข้างมากจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อขยับอันดับของไทย โดยเน้นให้ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทุกส่วนราชการต้องเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย พร้อมใช้ และสะท้อนสถานการณ์การพัฒนาที่เกิดขึ้นจริง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและประชาชนผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่าย ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพวิทยาศาสตร์และดิจิทัล และพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น  ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะได้จัดประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจประเด็นร่วมกัน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อติดตามและผลักดันแผนงานโครงการที่จะช่วยยกอันดับตัวชี้วัดของไทยในอนาคตไทยให้ดีขึ้นต่อไป

Advertising