จีนมุ่งขยายการค้าการลงทุนในยุโรป กระจายความเสี่ยงข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯ

356

business highlight online : ในช่วงสัปดาห์กลางเดือนตุลาคม ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน หารือทางวิดีโอออนไลน์กับนายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และชาร์ล มิเกล ประธานสภายุโรป โดยแสดงความสนใจที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการค้ารวมทั้งเพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่างๆของโลกในปัจจุบัน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะขยายความสัมพันธ์กับยุโรปและลดความเสี่ยงจากข้อขัดแย้งด้านต่างๆที่มีอยู่กับสหรัฐฯขณะนี้

จีนมีข้อพิพาทด้านการค้ากับสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2018 ในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยขณะนี้มียอดการค้ามูลค่าราว 5 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีที่สูงขึ้น นอกจากนั้นปักกิ่งกับวอชิงตันยังมีความขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ นับตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เรื่องสิทธิมนุษยชน และประเด็นเกี่ยวกับทะเลจีนใต้กับไต้หวันด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนกำลังหันไปขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับยุโรปที่โดยปกติแล้วเป็นฐานที่มั่นสำหรับความเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นของสหรัฐฯ เพื่อเป็นทางเลือกหรือเป็นนโยบายทดแทน โดยจีนหวังจะสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศในยุโรปแบบรายประเทศ ตามความเห็นของอาจารย์ สตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย International Christian University ที่กรุงโตเกียว

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรปกับจีนในช่วงปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยราบรื่นนัก โดยเฉพาะจากเรื่องการปฎิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมทั้งเรื่องท่าทีที่จีนปักกิ่งมีต่อจีนไต้หวันด้วย

นอกจากนั้นในแง่การทหารเอง จีนก็ไม่พอใจจากการที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ส่งเรือรบเข้าไปลาดตระเวนในทะเลจีนใต้เพื่อร่วมปฏิบัติการทางทะเลกับสหรัฐฯ

ถึงกระนั้นก็ตาม ในแง่เศรษฐกิจแล้ว จีนมีฐานะเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป โดยเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงปีละหลายพันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และประเทศในยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกก็พร้อมจะรับการลงทุนจากจีนมากกว่าประเทศในยุโรปตะวันตกด้วย

ชอน คิง ผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษา Park Startegies ในนครนิวยอร์ก ก็ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง มองกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้ง่าย และจะพยายามขยายความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ว่าสถานะความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันจะเป็นอย่างไรก็ตาม

เพราะนอกจากการหาพันธมิตรทางการเมืองแล้ว ปักกิ่งยังต้องการเข้าถึงตลาดเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และสถาบันคลังสมองของยุโรปด้วย

และในการสนทนาทางระบบวิดีโอกับนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนเรื่องการค้าและเชื่อว่าผลประโยชน์ร่วมระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปนั้นมีมากกว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยสำนักข่าวซินหัวยังรายงานด้วยว่า ผู้นำจีนกล่าวย้ำว่าจีนกับสหภาพยุโรปเป็นพลังที่สำคัญของโลกซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกันในการกระชับความร่วมมือและทำงานเพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่างๆของโลกในขณะนี้ด้วย

ประธานาธิบดีสียังเสนอต่อประธานสภายุโรปด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันในเรื่องเทคโนโลยี และจีนจะขยายแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งถนนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ให้ครอบคลุมหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน

แต่นอกจากความสนใจของจีนในเรื่องเทคโนโลยีและตลาดในยุโรปแล้ว จีนก็มีตลาดในประเทศซึ่งมีผู้บริโภคชนชั้นกลางพร้อมจะเปิดรับสินค้าจากยุโรป โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยจากฝรั่งเศสและอิตาลี และประเทศในยุโรปเองก็สนใจจะลงทุนในภาคพลังงานและในเรื่องพลังงานสะอาดในจีนด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจมส์ เบิร์กลีย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Ellice Consulting ในกรุงลอนดอน มองว่า จีนมีนักลงทุนผู้มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตลาดในต่างประเทศและพร้อมจะใช้เงินลงทุนดังกล่าวกับธุรกิจเพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย International Christian University เตือนว่า ถึงแม้จีนอาจสามารถมุ่งลงทุนในบางประเทศของยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อรุกเข้าไปในสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่แนวปฏิบัติของจีนดังกล่าวก็อาจจะได้ผลคล้ายกับที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ จีนสามารถชนะใจประเทศเล็กๆบางประเทศ เช่น กัมพูชากับลาวได้ แต่ก็ยังมีหลายประเทศ เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งยังไม่ค่อยไว้วางใจจีนมากนัก

ที่มา VOA

Advertising