EXIM BANK ชี้ SMEs ต้องเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Transform ธุรกิจ

405

business highlight online : EXIM BANK ชี้ SMEs ต้องเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Transform ธุรกิจ พร้อมให้บริการครบวงจร ‘ซ่อม’ ‘สร้าง’ ‘เสริม’ อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยรับมือโลก Next Normal โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับปรุงกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

4 พ.ย.64 ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Transformation ทางรอด SMEs” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า “Transformation” เทียบเคียงได้กับคำว่า “การแปลงร่าง” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมจนจำร่างเดิมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงร่างของรูปแบบธุรกิจ กระบวนการหรือวิธีการทำธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมกระบวนการทำงานร่วมกับแรงงาน ช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทำให้สภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจ สภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงเงินทุนและโอกาสที่จะ Transform องค์กรโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ในระยะถัดไปได้มากขึ้น

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยคาดการณ์ผลประกอบการทั้งในทางบวกและทางลบ มองให้รอบด้านว่าธุรกิจที่ดำเนินอยู่สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของธุรกิจที่ดำเนินอยู่ คู่แข่ง และผู้บริโภค มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร ยอมให้ธุรกิจที่ไม่มีอนาคต “ตาย” “แปลงร่าง” และ “เกิดใหม่” เพี่อก้าวต่อไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่ตอบสนองตลาดได้ดีกว่า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินองค์กร ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการขนส่งและส่งมอบสินค้าถึงคู่ค้าหรือผู้บริโภคได้สำเร็จ

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 ธุรกิจ SMEs ปิดกิจการ 3,819 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,749 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของการบริโภคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกภาคธุรกิจต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งอาจกลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการในที่สุด หากเจ้าของกิจการมิได้เตรียมแผนรองรับหรือปรับตัวได้ทัน

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ขณะที่การค้าออนไลน์ของโลกและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้ปรับตัวมาขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เป็นความหวังของการฟื้นภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม EXIM BANK มองเห็นทิศทางดังกล่าว จึงเร่งเดินหน้าภารกิจสนับสนุนการซ่อมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่และขยายช่องทางหรือแพลตฟอร์มการค้าใหม่ภายใต้นโยบาย Dual-track Policy เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้นและระยะยาวคู่ขนานกันไป โดย EXIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ อยู่เคียงข้างลูกค้าและพันธมิตร ในฐานะ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ตั้งแต่การ “ซ่อม” “สร้าง” “เสริม” เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจ เสริมสร้างการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในสังคม ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น บริการของ EXIM BANK อาทิ แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ EXIM Thailand Pavilion และบริการ EXIM Biz Transformation Loan อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ขยายกำลังการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล และบริการอื่นๆ ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเร็ว

ในงานสัมมนานี้ EXIM BANK จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมพันธมิตรและผู้ประกอบการต้นแบบ ร่วมนำเสนอแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์จริง เพื่อสร้างทางรอดให้ธุรกิจ SMEs ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นายที่รัก บุญปรีชา กูรูและ Influencer ด้านไอทีจากแบไต๋ไฮเทค และ ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพออร์แกนิค

“EXIM BANK พร้อมสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่และ Transform ธุรกิจที่ดำรงอยู่ให้สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างยอดขายหรือรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ได้อย่างมีเสน่ห์และมีศิลปะ กล่าวคือ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.รักษ์กล่าว

Advertising