business highlight online : ประยุทธ์ ชี้แจงสภา เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมาย ไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศรอบบ้านที่มีปัญหา
วันนี้ (17 ก.พ. 65) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านซึ่งมีทั้งหมด 15 ประเด็น โดยในประเด็นเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2564 เกิดสถานการณ์โควิด และทุกประเทศก็ประสบปัญหาร่วมกัน แต่ไทยสามารถฉีดวัคซีน เกินเป้าหมาย 100 ล้านโดส สำเร็จก่อนเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุมัติ ทำให้เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมาย ประเทศรอบบ้านมีปัญหาไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ลดจำนวนลูกหนี้ที่ต้องการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จาก 12.5 ล้านบัญชี เหลือต่ำกว่าครึ่ง หรือกว่า 6 ล้านบัญชี มีการจ้างงานมากขึ้น จำนวนผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี 2564 นักศึกษาจบใหม่ ปี 2563 – 2564 ทำงานในภาคเอกชนกว่า 66.78% ทำงานในภาครัฐ 20% ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว มีการเปิดกิจการใหม่ในปี 2564 มากกว่าบริษัทที่ปิดกิจการ กว่า 4 เท่าตัว ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน สูงขึ้นกว่า 600,000 ล้านบาท ดีกว่าก่อนโควิด-19 การขอรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 2,339 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.7 แสนล้านบาท กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การส่งออกปี 2564 ดีขึ้นมาก มีมูลค่ารวม 8.5 ล้านล้านบาท ตัวอย่างการลงทุนที่สำคัญ Cloud Service โครงการผลิตอาหารสัตว์ชีวภาพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบภาคเอกชน และรับทราบว่าเอกชนพอใจการปรับปรุงมาตรการของไทยเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุน ไม่ใช้การเอื้อประโยชน์ หรือขายทรัพยากรชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามข้อตกลง
ขณะที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของไทยจากทั้ง 3 สถาบันการจัดอันดับโลก ได้แก่ S&P Fitch Ratings และ Moody’s ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ BBB+ และอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ภาคการเงินการคลังของไทยยังเข้มแข็ง และมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง ถึงแม้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมาย สำคัญที่สุด คือ การที่คนไทยได้มีความสุขในการฉลองปีใหม่ปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน ซึ่งมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ คำนึงถึงความสมดุลทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจควบคู่กัน
Advertising