ค่าเงินรูเบิลเริ่มฟื้นตัว นักวิเคราะห์ตะวันตก (เสี้ยม) ตั้งคำถาม มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลแค่ไหน?

277

business highlight online : 2 เมษายน 2565 ค่าเงินรูเบิลปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อวันพุธ แม้ว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรป จะระดมมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจมากมายต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียบุกยูเครน จุดประเด็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจว่า มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกนั้นได้ผลแค่ไหน?

ในช่วงก่อนที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อัตราแลกเปลี่ยนรูเบิลต่อดอลลาร์ อยู่ที่ 85 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะอ่อนค่าลงไปถึง 150 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ 7 มีนาคม ในจังหวะที่คณะทำงานของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประกาศแบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ประธานาธิบดีไบเดน ได้กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่โปแลนด์ว่า นี่เป็นมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่แข็งกร้าวที่สุดที่บังคับใช้กับประเทศหนึ่ง และว่า “ค่าเงินรูเบิลนั้นแทบจะลดค่าลงเป็นเศษหินทันที”

แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินรูเบิลปรับตัวแข็งค่าขึ้นมา ท่ามกลางรายงานที่ว่า รัฐบาลเครมลินจะเปิดการเจรจาหยุดยิงกับยูเครน ขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับท่าทีล่าสุดของรัสเซียอยู่

ทาเนีย บาบินา นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายยูเครนจาก Columbia University ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักเศรษฐศาสตร์กว่า 200 คนที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ต่อการขัดขวางการก่อสงครามของรัสเซีย ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวเอพีว่า สำหรับรัสเซียแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรายได้จากพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของงบประมาณรัฐ และเป็นเครื่องสนับสนุนการบริหารประเทศและการก่อสงครามของรัสเซีย

เบนจามิน ฮิลเกนสต็อค และ เอลินา ริบาโควา นักเศรษฐศาสตร์จาก Institute of International Finance เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ชี้ว่า มาตรการแบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ และอังกฤษที่จะเจริญรอยตามในปลายปีนี้ อาจไม่สร้างแรงกระเพื่อมได้มากพอหากประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรปไม่ทำตาม

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสอง มองว่า หากสหภาพยุโรป อังกฤษ และสหรัฐฯ แบนนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกันถ้วนหน้า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวมากกว่า 20% ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าระดับ 15% ที่เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่ง ทางทำเนียบขาว และนักเศรษฐศาสตร์หลายราย โต้แย้งว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ซึ่งอาจจะเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าจะส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มปิดตัวจากการขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆ หรือขาดแคลนเงินทุน แต่ผู้วิจารณ์คณะทำงานของไบเดน เห็นว่าการฟื้นตัวของค่าเงินรูเบิล แสดงให้เห็นว่า ทำเนียบขาวต้องลงมือทำมากกว่านี้

วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน แพท ทูมี ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอพีด้วยว่า การฟื้นตัวของค่าเงินรูเบิล เป็นตัวบ่งชี้ว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯต่อรัสเซีย ยังไม่เข้าทำลายเศรษฐกิจของรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นราคาที่ปูตินต้องจ่ายให้กับการก่อสงครามที่เกิดขึ้น

ด้านผู้นำประเทศพันธมิตรชาติตะวันตกของสหรัฐฯ ต่างมองว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียมากขึ้นอีก อย่างนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ที่กล่าวในเวทีประชุมจี-7 ว่า ทุกประเทศสมาชิกควร “เพิ่มมาตรการลงโทษที่เข้มข้นขึ้น”

แต่นั่นเป็นคำขอที่ยากสำหรับประเทศอื่นๆในยุโรป รวมทั้งเยอรมนี ซึ่งพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ขณะที่สหภาพยุโรปโดยรวม พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียราว 10% และพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากกว่า 1 ใน 3

ในเรื่องนี้ ชาร์ลส ลิชฟิลด์ จาก Atlantic Council ให้ความเห็นว่า หากประเทศในยุโรปรีบลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้เร็วเท่าไร จะยิ่งกระทบต่อรัสเซียได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ได้ย้ำว่าผลลัพธ์เช่นนั้นอาจอยู่เหนือมติของชาติตะวันตกด้วยเช่นกัน

Advertisement