ญี่ปุ่นทุ่มงบช่วย ปชช.ผู้มีรายได้น้อยและภาคธุรกิจขนาดเล็กครั้งแรกรอบหลายทศวรรษรับมือเงินเฟ้อ

284

business highlight online : 24 เม.ย. 65 รัฐบาลญี่ปุ่น เตรียมอัดมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและภาคธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ (ตามรายงานของรอยเตอร์)

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอ คิชิดะ จากพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ของญี่ปุ่น ระบุว่ามาตรการช่วยเหลือในเฟสแรก ที่จะเริ่มต้นในวันอังคารหน้านี้ มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านเยน หรือราว 11,700 ล้านดอลลาร์

ในมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ รวมถึงการมอบเงินสดกับครอบครัวรายได้น้อยเพื่อเป็นค่าดูแลบุตร คนละ 50,000 เยน และเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับผู้ค้าส่งเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาผลกระทบของเงินเฟ้อ (อ้างอิงจากเอกสารที่รอยเตอร์ได้รับ)

รายละเอียดของร่างงบประมาณที่รอยเตอร์ได้รับข้อมูล ระบุว่า ส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับมาตรการฉุกเฉินเร่งด่วน ส่วนที่เหลือจะใช้ในการลดผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงและราคาสินค้าที่พุ่งสูงในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะกันงบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านเยนเพื่อใช้พยุงราคาเชื้อเพลิงในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของปีนี้

นอกจากนี้ เคอิจิ อิชิอิ เลขาพรรคโคเมโตะ พันธมิตรของพรรครัฐบาล LDP เพิ่มเติมว่า งบประมาณช่วยเหลือครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 2.7 ล้านล้านเยน หรือราว 21,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาในเดือนพฤษภาคมนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน ให้คำมั่นว่าจะมีเชื้อเพลิงและสินค้าพื้นฐานเพียงพอในประเทศ แม้ว่าญี่ปุ่นกำลังเจอความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ก่อนศึกเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากภาวะค่าพลังงานที่พุ่งสูง

โทรุ ซูเอฮิโระ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จาก Daiwa Securities ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า พรรค LDP อาจเจอแรงกดดันจากพรรคพันธมิตรโคเมโตะ ให้ออกงบประมาณช่วยเหลือประชาชนออกมา แทนที่จะดึงงบสำรองฉุกเฉินของประเทศมาใช้ ซึ่งนโยบายนี้สะท้อนภาพของการใช้เครื่องมือด้านการคลังเพื่อลดภาระของภาคครัวเรือนญี่ปุ่น แทนที่จะงัดมาตรการด้านการเงินมาใช้ หรือเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าหนักในรอบ 20 ปีเช่นนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดนี้เกิดขึ้นได้ อาจต้องมีการออกพันธบัตรเพิ่มเติม ซึ่งซ้ำเติมภาระหนี้ของญี่ปุ่นที่มากที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม จากที่ตอนนี้ญี่ปุ่นมีระดับหนี้สาธารณะมากกว่า 2 เท่าของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี อยู่แล้ว

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ที่ดอกเบี้ยนโยบายใกล้ศูนย์ มาตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา แต่จากสงครามยูเครนและต้นทุนค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แรงกดดันจากเงินเฟ้อกลายเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจญี่ปุ่นในขณะนี้ โดยระดับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้นทุนเชื้อเพลิงกลับพุ่งสูง 20.5% ในเดือนเดียวกัน ขณะที่เงินเฟ้อในภาคค้าส่งแตะระดับ 9.5% ในเดือนมีนาคม

ที่มา: รอยเตอร์

Advertisement