business highlight online : 4 พฤษภาคม 65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนและเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงระหว่างปี 2563 – 2565 โดยจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว จำนวน 2,600 องค์กร มีการบริหารจัดการร่วมกัน ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน การส่งเสริมการแปรรูปสัตว์น้ำ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าประมงและส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า รวมถึงพัฒนาต่อยอดกิจกรรมจากอาชีพการประมงทำให้เกิดมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุมัติโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมง ปีงบ 2565 (องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น) เพื่อสร้างรายได้ความมั่นคงในการประกอบอาชีพการทำประมง ให้กับองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่ 50 จังหวัด (พื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล และในพื้นที่ 28 จังหวัดแหล่งน้ำจืด) รวม 200 ชุมชน ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกรมประมงตามเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรครบเรียบร้อยแล้ว เป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ด้านชายฝั่ง 81 องค์กร ด้านประมงน้ำจืด 83 องค์กรและด้านแปรรูป 36 องค์กรๆละ 100,000 บาท เพื่อให้ชุมชนนำไปดำเนินการพัฒนาอาชีพด้านประมงตามความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละชุมชน กิจกรรมประกอบด้วย 1) กิจกรรมพัฒนาอาชีพประมง อาทิ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย การสนับสนุนอุปกรณ์ซ่อมแซมเครื่องมือทำการประมงและเรือประมง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การผลิตอาหารสัตว์น้ำเพื่อจำหน่าย การเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อจำหน่ายและแปรรูป 2) กิจกรรมเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ อาทิ การพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ การสร้างแปล่งอาการสัตว์น้ำธรรมชาติ การจัดตั้งและพัฒนาธนาคารสัตว์น้ำ (ธนาคารปูม้า) การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดตั้งโรงเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จัดสร้างกระชังอนุบาลสัตว์น้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 3) เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ อาทิ การพัฒนารูปแบบการแปรรูปสัตว์น้ำตามมาตรฐานและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า 4) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะการทำการประมง อาทิ การอบรมให้ความรู้การทำการประมงถูกกฎหมายและศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากพื้นที่ต้นแบบ และ 5) กิจกรรมอื่นๆ เช่น ซ่อมแซมอาคารที่ทำการประมง ปรับปรุงแพชุมชน เป็นต้น ซึ่งเมื่อนับรวมการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 – ปี 2565 ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านประมงให้กับชุมชนประมงท้องถิ่น รวม 594 ชุมชน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 22 จากองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 59,400,000 บาท ซึ่งผลจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพด้านประมงและส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยการบริหารจัดการร่วมกันของชุมชน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังดำเนินการ พบว่า ชาวประมงมีความพึงพอใจกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ชาวประมงท้องถิ่นสามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71 และปี 2564 สามารถจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 และจากการสนับสนุนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ทำให้ต้นทุนในการประกอบอาชีพลดลง ศักยภาพในการทำประมงเพิ่มขึ้น และสามารถต่อยอดกิจกรรมในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงได้ ส่งผลให้องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เกิดความเข้มแข็ง และมีรายได้จากการประกอบอาชีพการทำประมงได้มั่นคงยิ่งขึ้น
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบรายงานอื่นๆ ดังนี้ 1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน 6 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ และประมงเพาะเลี้ยงเช่น แนวทางช่วยเหลือโดยการอุดหนุนน้ำมันให้กับประมง, แนวทางการจัดสรรวันทำการประมง, การเตรียมความพร้อมระบบการขนส่งทางรถไฟของสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น 2) การฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 ,การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตเพื่อส่งออก โดยประธานการประชุมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมผู้เพาะเลี้ยง อุตสาหกรรมประมง และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อประชุมหารือในแนวทางการจัดระบบสินเชื่อและแหล่งทุน เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 3) ความก้าวหน้าโครงการฟิชเชอร์แมนวิลเลจรีสอร์ต ( Fisherman’s Village Resort ) มีการส่งเสริมชุมชนประมงชายฝั่งที่มีศักยภาพ 22 จังหวัด สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวได้ 53 แห่ง เป็นการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนประมงด้วย โดยให้นำแนวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) มาประยุกต์ใช้ และให้ส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์ (Online Market) เพื่อช่วยสนับสนุนการขายและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านประมงมากขึ้น 4) ความก้าวหน้าของคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ในการขยายช่องทางการกระจายสินค้าประมงผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ และการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ 5) ความก้าวหน้าโครงการนำเรือออกนอกระบบ 6) การสาธิตเรือฝึกปลาลัง ณ ท่าเทียบเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Fisheries Development Center : SEAFDEC) 7) ความก้าวหน้าการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 65 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
Advertisement