business highlight online : 17 พ.ค. 65 สภาพัฒน์ ปรับลดจีดีพีปี 65 ขยายตัวร้อยละ 3 จากความรุนแรงรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานพุ่ง เงินเฟ้อขยับสูง เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 2.2 ยอมรับเศรษฐกิจปีขาลยังน่าห่วง แนะกู้เงินฟื้นเศรษฐกิจต้องคิดให้รอบคอบ หวั่นกระทบฐานะการคลัง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปรับคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 65 ขยายตัวร้อยละ 3 ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 4.5 สอดคล้องกับเศรษฐกิจต่างประเทศปรับลดลง ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ปัจจัยบวกยังเป็นการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว คาดการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 4.2-5.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 1.5 ทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาระหนี้สาธารณะร้อยละ 66 ต่อ GDP ยังต่ำกว่าเพดานร้อยละ 70
ปัจจัยหลักในการปรับลดจีดีพีปี 65 คือ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จากปัญหาราคาพลังงานสูง อัตราเงินเฟ้อสูง และในช่วงถัดไปไทยต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มเป็นห่วงเศรษฐกิจของตนเอง จึงงดส่งออกวัตถุดิบหลัก เช่น อินโดนิเซีย เริ่มงดส่งออกน้ำมันปาล์ม จีนเริ่มสำรองอาหารช่วง 1 ปีครึ่ง รัสเซียถูกแทรกแซงจากตลาดโลก ซึ่งเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบปุ๋ย ข้าวสาลี หลายประเทศต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงมาก ขณะที่ไทยเป็นประเทศผลิตอาหาร จึงต้องบริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบหลัก การใช้ชิพผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ การบริหารงานช่วงต่อไปจึงต้องหาวัตถุดิบทดแทนมารองรับในส่วนที่นำเข้าไม่ได้
สำหรับจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาส 4 ชะลอตัวร้อยละ -0.2 การบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.6 ต้องเร่งรัดโครงการลงทุนให้มากขึ้น มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 14.6 จากไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 21.3 ที่ผ่านมาการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไปจีนยังมีข้อจำกัด จากการเข้มงวดพิธีการส่งออก โดยเฉพาะเมื่อจีนดำเนินนโยบายซีโร่โควิด จึงกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน แม้การฉีดวัคซีนของไทย 2 เข็มมากกว่าร้อยละ 50 การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังต้องเฝ้าระวังเหมือนเดิม เมื่อไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยว ผ่อนคลายเดินทางให้มากขึ้น เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดจากปัญหาเงินเฟ้อ ความรุนแรงรัสเซีย-ยูเครน การปรับดอกเบี้ยของเเฟดในสหรัฐเพิ่มต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศปรับสูงขึ้น สหรัฐและยุโรป
“การใช้นโยบายการคลังฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินเพิ่มเติมตามข้อเสนอฝ่ายต่างๆนั้น ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะทรัพยากรประเทศมีจำกัด การกู้เพิ่มต้องดูฐานะการคลัง ควรกู้ได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด กู้มาแล้วจะใช้ทำอะไรต้องดูร่วมกันให้ดี วงเงินที่เหลืออยู่ 7.4 หมื่นล้านบาท ต้องนำไปใช้ส่วนแรกผ่านโครงการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 1 หมื่นล้านบาท และใช้รักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณรองรับ ส่วนที่เหลืออยู่ 4.8 หมื่นล้านบาทต้องเสนอ ครม.ใช้เงินก่อนสิ้น ก.ย. 65 จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง” นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องเร่งตลาดเพื่อการส่งออก และส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ การนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในประเทศ ต้องเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว การเน้นทำให้ไทยพึ่งพาอยู่ด้วยตนเองมากขึ้น จากหลายประเทศงดการส่งออกวัตถุดิบ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนต้องดูแลต่อเนื่องไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ การเร่งรัดการลงทุนสำคัญ พัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนาเขตอีอีซี เมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะไม่ปกติ จึงขอให้ประชาชนร่วมกันฟื้นเศรษฐกิจในภาวะไม่ปกติท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน ใช้จ่ายอย่างจำเป็น ท่องเที่ยวในประเทศก่อนเดินทางไปต่างประเทศ โดยยังเป็นห่วงภาระหนี้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ต้องทำการแก้ปัญหาต่อเนื่อง จากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะยังเป็นปัจจัยเปราะบางต่อเศรษฐกิจไทย และปัญหาการแพร่ระบาดโควิด -19
Advertisement