ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แจงนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังโควิดคลี่คลาย

262

business highlight online : 19 พฤษภาคม 2565 ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แจงนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังโควิด-19 คลี่คลาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุน เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน ปรับตัวกับปัจจัยผันผวน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมนำเสนอแนวทางขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทย ในเวทีเสวนาหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย”  ในงาน Better Thailand Open Dialoque  วันแรก ถามมา-ตอบไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเต็มสูบ นายสุพัฒนพงษ์ย้ำว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังดีต่อเนื่อง จึงสร้างความเชื่อถือกับต่างชาติ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกับรัฐบาล  หลังใช้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในเขตอีอีซี คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโตไปได้ ขอให้คนไทยร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อก้าวข้ามปัญหาในขณะนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าไทยมีปัญหาต้องพึ่งแหล่งพลังงาน พึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ  ขณะที่ไทยยังมีศักยภาพ เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนา ดึงดูดการลงทุน จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น เงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามา และในช่วงวิกฤตนี้ ​การพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจแบบพอเพียง นับว่ามีความสำคัญจึงต้องเน้นภาคเกษตรเพื่อทำให้ไทยอยู่รอดได้ เมื่อลดการพึ่งพาจากโลกตะวันตก ยังสามารถค้าขายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ กระทรวงการคลังเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่มั่นคง เพื่อให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน

ที่สำคัญ ต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย การส่งออกของไทยยังประเทศเพื่อนบ้านเติบโตร้อยละ 20 หากไทยเน้นสร้างความต้องการซื้อประเทศเพื่อนบ้านและไทย จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อย นโบายทางการคลังต้องเข้าไปสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมศูนย์สุขภาพ รองรับกระแสดูแลสุขภาพท่ามกลางโควิด-19  การสนับสนุนสินเชื่อกรีนไฟแนนซ์ นับว่าแบงก์เริ่มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงต้องส่งเสริมภาคเอกชน ในอนาคตเทคโนโลยีมีอิทธิพลสูง สิ่งจำเป็นจึงต้องปรับทักษะความรู้ พัฒนาคุณภาพแรงงาน ภาครัฐต้องจัดระบบสวัสดิการ การช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินทำได้อย่างรวดเร็ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญออกไปสู่ต่างจังหวัด คนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองหลวง ขณะที่เอสเอ็มอี ต้องเชื่อมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีช่องทางการผลิต การตลาด การนำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนาบุคคลากร ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้ยืนด้วยขาตัวเอง นำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ให้เต็มที่ ปลดล็อกการทำปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต อาหารสัตว์ต้องหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศแทนการนำเข้า ภาคธุรกิจต้องปรับตัวการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 แบงก์ชาติต้องดูแลให้สถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ สินเชื่อหดตัว ธุรกิจลำบาก ล่าสุดสินเชื่อไทยโตร้อยละ 6 นับว่ากลไกทางการเงินยังพอทำงานได้แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังขาดสภาพคล่องได้ทั่วถึง และยังได้ไกล่เกลี่ยหนี้ การพักทรัพย์พักหนี้ หลังจากนี้ไป ธปท.ต้องหาทางทำอย่างไม่ให้ทุกส่วนสะดุด เพื่อเดินหน้าการลงทุน ทั้งปัญหา NPL อัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนกระทบต่อทุกฝ่าย ยืนยันว่าไทยไม่เจอปัญหา StragFlation อย่างแน่นอน เพราะธปท. ยังคาดว่าGDP เติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 65 ทุกฝ่ายต้องสร้างนิเวศน์ให้มีความพร้อม รองรับการฟื้นตัวจากปัญหา เมื่อไทยแนวโน้มที่โดดเด่น  ต้องสร้างโอกาสใหม่ให้เอกชน มุ่งด้านความปลอดภัยทางอาหาร  เพราะไทยมีศักยภาพสูงมาก ต้องหาจุดเด่นมาส่งเสริม

Advertisement