“เฉลิมชัย” เดินหน้าขยายตลาดญี่ปุ่น ส่ง ”อลงกรณ์” กระชับความร่วมมือกับบริษัทการค้าญี่ปุ่น

265

business highlight online : 3 กรกฎาคม 2565 รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า วันนี้ (3 ก.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว และคณะ เข้าเยี่ยมชมระบบความเย็น (Cold Chain) และรับฟังข้อมูลระบบโลจิสติกส์ ระบบเครือข่ายตลาดค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าในการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมายังประเทศญี่ปุ่น ณ บริษัท P.K. SIAM  เมืองโยโกฮามา จังหวัดคานากาวะ โดยมี นายรุ่งสิทธิ์ สนธิอัชชรา ผู้จัดการฝ่ายการค้า (Trading Division Manager) ให้การต้อนรับ พาชมพร้อมบรรยายสรุป โดยบริษัท พี.เค.สยาม (P.K.SIAM) เป็นบริษัทผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ในกรุงโตเกียว อาทิ มะม่วง ทุเรียน กล้วยหอม ส้มโอ มะพร้าว มังคุด  ผักสด น้ำมะนาวคั้นสด รวมถึงสินค้าแปรรูป อาหาร ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

จากนั้น นายอลงกรณ์และคณะได้เดินทางไปพบหารือกับคณะผู้บริหารของบริษัทไนไกนิตโตะ ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่มีการร่วมทุนกับไทยจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยมากว่า 25 ปี พร้อมกับเยี่ยมชมระบบขนส่งทางเรือทางอากาศซึ่งมีบริการขนส่งยางพาราและเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่นในมิติต่างๆภายหลังจากนายเก็นจิโร คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พร้อมคณะเข้าพบหารือกับดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีการส่งออกเฉลี่ยปีละ 144,820 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เนื้อไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อไก่แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต และ ยางแผ่นรมควัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นมากกว่า 130,000 ล้านบาท ญี่ปุ่นสามารถผลิตอาหารได้ไม่ถึง 40% ของความต้องการในประเทศ มีนโยบายเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 125 ล้านคน มีกำลังซื้อสูง มีสัมพันธ์ที่ดีกับไทยตลอดมา จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมากในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมายังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งการร่วมลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางเรือและทางอากาศ ให้มีต้นทุนและเวลาที่ลดลงมา ประการสำคัญคือการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่นโดยตรงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพต่อไป รวมทั้งแนวโน้มความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคสำคัญมาก ต่อการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับตลาดญี่ปุ่นตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต”

Advertisement