นายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุมสภาความมั่นคง ถกแผนรับมือวิกฤติพลังงาน

225

business highlight online : 4 กรกฎาคม 2565 นายกฯ ประชุม สมช. ถกแผนรับมือวิกฤติพลังงาน ตั้ง คกก. 2 ชุด เร่งหาแหล่งพลังงาน อันดามัน-อ่าวไทยเพิ่ม ผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเลแทนเรียกพื้นที่ทับซ้อน ระบุ ขอช่วยกันประหยัดพลังงาน บอกเจ็บปวดประชาชนเดือนร้อน วอนหยุดแซะ ยันไม่ได้น้ำมันฟรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อพิจารณาเตรียมการรับมือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคต รวมถึงพิจารณาหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม โดยมีหน่วยงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมวันนี้ (4 ก.ค.) ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมว่า สถานการณ์น้ำมันขณะนี้ยังไม่ขาดแคลนแต่ราคาสูง ต้องดูต้นทุนราคาน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งค่าการกลั่นที่พูดกันมีกฎหมายรองรับอยู่ทุกตัว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นผู้ชี้แจงว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ถ้าทำได้ก็จะทำ ซึ่งการทำก็เสี่ยง และได้กำชับที่ประชุมว่า ไฟต้องไม่ดับ พลังงานต้องเพียงพอ ทั้งนี้พลังงานสำรองในประเทศยังสามารถใช้ได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าไม่นำเข้า อยู่ได้กี่วันได้มีการหาข้อมูลไว้แล้ว จึงมีการเตรียมแผนว่าถ้าขาดจะทำอย่างไร ส่วนเรื่องอาหารประเทศเราไม่น่าจะขาดแคลนแต่วันหน้าต้องเตรียมพร้อมเมื่อเราจะเป็นแหล่งอาหารโลก ต้องพัฒนาด้านการเกษตร เช่น พืชสำหรับทำอาหารสัตว์ ต้นทุนปุ๋ย ต้นทุนการผลิตต่างๆ จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยเห็นว่าจะนำแร่โปรแตซมาทำเป็นแม่ปุ๋ย

ส่วนเรื่องพลังงาน ให้ไปหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะความมั่นคงด้านพลังงาน เกี่ยวข้องกับอาเซียนทั้งหมดต้องหารือร่วมกัน และหาทางออกให้ได้ เพราะวันหน้าจะพึ่งพลังงานจากต่างประเทศไกลๆ เป็นไปไม่ได้แล้ว ซึ่งวันนี้น้ำมันและพลังงานก็มาจากรอบบ้านเรา ถ้ามีปัญหารอบบ้าน ก็จะกระทบกับการค้าชายแดน เพราะเศรษฐกิจและความมั่นคงพันกันไปหมด จึงต้องระมัดระวังอย่างที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้การค้าชายแดน มีมูลค่าสูงเป็นแสนล้าน ดังนั้นถ้ามีปัญหากันมากๆ คนเดือดร้อนคือใครก็รู้อยู่

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว ว่าจะเพิ่มเติมจุดใดได้บ้าง ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนต้องเข้าใจว่าวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเงินเฟ้อที่มีปัจจัยมาจากราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตไปสู่ผู้บริโภค ทำให้สินค้าราคาแพง ซึ่งต้องไปดูว่า ราคาขึ้นตามสัดส่วนที่ควรจะขึ้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยการฟื้นตัววันนี้การท่องเที่ยวและการส่งออกดีขึ้น แต่ยังกระจุกตัวไม่กระจายไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งตนห่วงผู้มีรายได้น้อย หนี้สินครัวเรือน ก็ต้องไปแก้ ขณะเดียวกันยังมีความเดือดร้อนของกลุ่ม SME ซึ่งรัฐบาลและธนาคารได้ออกสินเชื่อ และต้องระมัดระวังเพราะมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระเป็นหนี้เสียมากพอสมควร โดยรัฐบาลพยายามที่จะดูแลให้มากที่สุด

ส่วนเรื่องการขนส่งจะใช้ขนส่งระบบราง แม้จะต้องมีการต่อรถ เพื่อนำสินค้าไปยังพื้นที่ ก็ต้องไปพิจารณาว่าค่าขนส่งจะแพงกว่าหรือไม่ ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลใช้ตรึงราคาพลังงาน ขณะนี้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าแสนล้าน ต้องพิจารณาว่าถ้าใช้ต่อไปจะไหวหรือไม่ ขอให้เข้าใจถ้าเรามีงบประมาณเพียงพอตนยินดี แต่ต้องระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า จากปัญหาทั้งหมดทำให้ที่ประชุม สมช. ตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1. คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับ ครม. เศรษฐกิจ โดยนายกฯ เป็นประธาน 2. คณะกรรมการวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแก้ปัญหาในทุกมิติ จัดทำแผนรองรับในทุกด้าน ตามวิกฤตการณ์ในอนาคต โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งได้นำข้อกฎหมายทั้งหมด มาพิจารณาว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ และจากข้อห่วงใย ข้อกังวลต่างๆได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเมื่อคณะกรรมการจัดทำข้อมูลแล้วเสร็จต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

“สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ ขอสักอย่างได้ไหม รู้ไหมว่าจะขออะไร ช่วยประหยัดกันหน่อยได้ไหม ประหยัดคือประหยัดใช้พลังงาน ใช้เท่าที่จำเป็นได้ไหม ซึ่งถ้าใช้เท่าที่จำเป็นค่าไฟฟ้าและค่า FT จะลดลง ถ้าใช้มากเหมือนเดิมก็ลำบาก ผมก็ขอร้องเท่านั้นแหละ ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว ผมเองก็ใช้รถเท่าที่จำเป็น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า ในแผนสามเดือนข้างหน้า มีแผนกู้เงิน หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดูแลต่อหรือไม่ สิ่งใดที่จะต้องพอ อันแรกคือต้องเซฟ ว่าจะลดตรงไหนได้บ้าง ไม่ใช่ไปเรื่อยไม่มีวันสิ้นสุดมันไปไม่ได้ จากเดิม 30 บาท วันนี้ 35 บาท ก็ต้องพิจารณาว่า เราจะตรึงราคา 35 บาทได้นานเท่าไหร่ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนได้หรือไม่

“อย่าคิดว่าโยนความรับผิดชอบให้ใครผมนี่เจ็บปวด ผมพูดหลายครั้ง ว่าเดือดร้อนไปกับท่านด้วย ไม่ใช่ผมสบาย ผมเดือดร้อนเรื่องการบริหาร ไม่สบายใจ ซึ่งพยายามจะทำให้ประชาชนได้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ แต่ต้องนึกช่วยกันว่าถ้าผมทำแล้วมันผิด แล้วจะทำอย่างไร ลองศึกษาดูกฎหมายมีอยู่ทุกตัว พูดมาหลายครั้งแล้ว หลายคน มาย้อนกลับว่านายกฯ ไม่ลำบาก นายกฯ มีรถประจำตำแหน่งใช้ ผมไม่ได้เติมน้ำมันฟรีเลยนะ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนนอกจากขอร้องให้ประหยุดพลังงาน จะออกเป็นกฎหมายหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออกกฎหมาย เว้นจำเป็นเด็ดขาดเท่านั้นถึงจะทำได้ มันมีความเสี่ยงสูง

เมื่อถามว่า จะนำมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮมกลับมาใช้ เพื่อประหยัดพลังงานหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวิร์คฟอร์มโฮมมาตรการดี แต่ปัญหา คือ ต้องเช็กว่าอยู่บ้านจริงหรือไม่ ถ้าจะเวิร์กฟอร์มโฮมต้องอยู่ที่บ้านและบอกตำแหน่งที่ตั้งให้ได้ ไม่เช่นนั้นมีปัญหา บางครั้ง การทำงานที่กระทรวง หรือทำเนียบรัฐบาลก็สำคัญเพราะ เป็นศูนย์บัญชาการข้อมูลเอกสารต่างๆ ซึ่งอย่างไรก็ต้องมีคนทำงานที่ ออฟฟิศ เว้นแต่ภาคธุรกิจสามารถทำได้หน่วยงานราชการอาจลำบาก

ส่วนจะมีการรื้อแผนพลังงาน พื้นที่ทับซ้อนกับเพื่อนบ้าน หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่อยากให้ใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน แต่จะหารือว่าให้ใช้คำว่าพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทางทะเลเพื่อนำไปสู่การเจรจาพูดคุย อย่านำมาพันกันเรื่องเขตแดน ชายแดน เดี๋ยวจะพันกันไปทั้งหมด ต้องดูว่ามีความจำเป็นจำเป็นหรือไม่ ไม่ทำก็ได้แต่จะเดือดร้อนต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งต้องหารือกันต่อไป ขอร้องหลายคนจับตาข้างหนึ่งอยากได้ อีกข้างหนึ่งไม่ให้ทำ ต้องเปรียบเทียบหลายประเทศมีปัญหามากกว่าเรา ถ้ามองแต่เรา จะรู้สึกว่าแย่ที่สุด ซึ่งไม่ใช่ ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา แม้ประเทศมหาอำนาจ ก็เจอปัญหาพลังงานเช่นกัน และสั่งไม่ได้ แต่ถ้าพูดเอามันก็พูดได้หมด

Advertisement