business highlight online : 28 กรกฎาคม 2565 เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.75% คาด กนง.ปรับขึ้นตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุหากแบงก์เลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลกระทบต่อระบบแบงก์ไทย
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุสัญญาณจากผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา สะท้อนว่า ไทยคงเข้าใกล้จังหวะการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว และจากแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับสูงทำให้น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้และเพิ่มเติมอีกในช่วงต้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นปัจจุบัน ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน (หรือปรับขึ้นภายหลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่นาน) ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานมีโอกาสเลื่อนจังหวะเวลาออกไปเพื่อช่วยเหลือลูกค้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานออกไป 3-6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ประมาณ 0.04-0.06% และกระทบปี 2566 ประมาณ 0.08-0.18% เมื่อเทียบกับกรณีที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปกติ
ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่าหาก กนง. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดใช้เวลาส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในอีกประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า จะกระทบต่อต้นทุนของผู้กู้เงินอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้พิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า อย่าให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไปจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด (27 ก.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เพื่อหวังสกัดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่ขยายกว้างขึ้น
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.25% -2.5% ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า เฟดจะทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึง 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่คิดว่าสหรัฐกำลังอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากบริษัทในสหรัฐยังคงมีการจ้างงานเพิ่มเติม 350,000 ตำแหน่งในแต่ละเดือน
นายพาวเวล ส่งสัญญาณด้วยว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน ก.ย. แล้วเฟดก็อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับ โดยอัตราดอกเบี้ยในกรอบ 2.25-2.50% ถือเป็นกรอบที่คณะกรรมการเฟดมองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง ซึ่งหมายความว่านโยบายการเงินของเฟดไม่ได้อยู่ในลักษณะผ่อนคลายและไม่ได้อยู่ในลักษณะคุมเข้ม
Advertisement