ราคาพลังงานในยุโรปพุ่ง! ผู้นำอียูเร่งหารือมาตรการควบคุมราคา

255

business highlight online : 13 กันยายน 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาพลังงานในยุโรปกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในวันจันทร์ โดยทางรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่าไม่สามารถยื้อราคาน้ำมันไว้ได้อีกต่อไป ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สหภาพยุโรปและอังกฤษกำลังพยายามหาวิธีลดผลกระทบจากสิ่งที่นักการเมืองบางคนเรียกว่า “สงครามพลังงาน” กับรัสเซีย ซึ่งเริ่มจากการที่รัสเซียลดการส่งออกพลังงานไปยังยุโรปเพื่อตอบโต้ที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีกำหนดเปิดเผยมาตรการฉุกเฉินในวันพุธนี้ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับบริษัทพลังงานที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้น และการช่วยชีวิตบริษัทพลังงานที่มีปัญหาด้านการเงินเพราะผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆในยุโรปยังคงมีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องการกำหนดเพดานราคาพลังงาน

รัฐมนตรีการคลังฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ กล่าวว่า ผู้บริโภคในฝรั่งเศสจะได้รับการปกป้องจากมาตรการจำกัดราคาพลังงานเมื่อมาตรการเดิมสิ้นสุดลงในช่วงฤดูหนาวปีนี้ แต่ก็ย้ำว่าครัวเรือนต่างๆอาจต้องยอมรับต้นทุนบางส่วนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่กับงบประมาณส่วนกลางมากเกินไป

ส่วนที่อังกฤษ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10% อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับเพียง 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่ายิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ โจนาส กาห์ร สโตรา กล่าวในวันจันทร์ว่า “การกำหนดราคาขั้นสูงจะไม่ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปริมาณพลังงานที่ลดลง” พร้อมกระตุ้นให้มีการเจรจากันเองโดยตรงระหว่างบริษัทผู้ซื้อขายพลังงานตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอร์เวย์คือผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ให้แก่สหภาพยุโรปหลังจากที่รัสเซียลดปริมาณการส่งออกพลังงานลง ทำให้รายได้จากพลังงานของนอร์เวย์เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นสถิติใหม่

เมื่อวันศุกร์ รัฐมนตรีพลังงานของสหภาพยุโรปได้ขอให้คณะกรรมาธิการอียูกำหนดมาตรการกำหนดราคาพลังงานขั้นสูงเพื่อทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของผู้บริโภคและบริษัทต่างๆลดต่ำลงก่อนเข้าฤดูหนาว แต่ทางอียูยังคงไม่สามารถตกลงกันได้ว่ามาตรการควบคุมราคานี้จำเป็นหรือไม่ และจะนำมาใช้อย่างไรกับพลังงานที่นำเข้าจากประเทศใดบ้าง โดยที่ประชุมตกลงหารือกันอีกครั้งในเดือนนี้

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดสงครามในยูเครน อียูนำเข้าก๊าซจากรัสเซียราว 40% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 9% ในปัจจุบัน ซึ่งทางรัสเซียอ้างว่าเป็นเพราะมาตรการลงโทษที่อียูนำมาใช้กับรัสเซีย

Advertisement