business highlight online : 30 กันยายน 65 ธปท. เผยเศรษฐกิจ ส.ค.65 ยังฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม อุปสงค์ในประเทศดีขึ้น จ้างงานฟื้นตัว เงินเฟ้อยังขยับเพิ่มจากราคาผักผลไม้ คาด ก.ย.65 เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนสิงหาคม 2565 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราว
ด้านอุปทานรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน นอกจากนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางหมวดปรับลดลง เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยางและพลาสติก
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลงจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและโลหะไปจีน ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทานในหมวดปิโตรเลียมจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และในหมวดสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติและสินค้าอุปโภคและบริโภคตามการนำเข้าสินค้าคงทน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางรวมทั้งสินค้าทุนปรับลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าในเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 7.86% จากอัตราเงินเฟ้อหมวด อาหารสดตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากทั้งหมวดอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้นจากการส่งกลับกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์ช่วงเดือนสิงหาคมว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยลง ประกอบกับตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไทย
สำหรับ แนวโน้มในเดือนกันยายนคาดว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้าง และราคาสินค้าอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัวรวมถึงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และนัยยะต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
Advertisement