เศรษฐกิจเยอรมนีสั่นสะเทือนจากพิษสงครามยูเครน

245

business highlight online : 18 ตุลาคม 2565 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเยอรมนีถือเป็นต้นแบบของเสถียรภาพและความแข็งแกร่งมายาวนาน แต่วิกฤตพลังงานที่มีชนวนมาจากสงครามยูเครนพ่วงด้วยภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้ผลักให้แดนอินทรีเหล็กดำดิ่งในวิกฤตและสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตได้

มาร์เซล แฟรตส์เชอร์ ประธานสถาบัน German Institute for Economic Research เปิดเผยกับวีโอเอว่า “สงครามยูเครนและวิกฤตพลังงานกระทบกระเทือนเยอรมนีอย่างหนัก เพราะเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ เมื่อราคาปรับพุ่งสูงขึ้น ได้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนี โดยเมื่อปี 2020 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจ้างงานชาวเยอรมันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ธุรกิจกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตล่าสุด

ยาน ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ เจ้าของธุรกิจเบเกอรีซึ่งมีพนักงาน 20 คน เลอ โบร็ต ในเมืองนอยเคิร์น ชานกรุงเบอร์ลิน บอกกับวีโอเอว่า “ความท้าทายสำคัญที่เราเผชิญในตอนนี้คือความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่พุ่งสูง และภาวะไฟฟ้าดับที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาวปีนี้ ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น 30% ไปแล้ว เราคาดว่าราคาพลังงานจะไปต่ออีก 100% แน่นอน แต่นั่นขึ้นกับฤดูหนาวที่จะมาถึงประกอบกับทิศทางการเมืองในช่วงนั้นด้วย”

ผู้บริโภคเองต่างได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าไป

เจ้าของธุรกิจเบเกอรี เลอ โบร็ต เสริมว่า “เราพยายามลดต้นทุนและเปิดรับลูกค้าทั้งหมดแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อเราปรับราคา ลูกค้าก็หดหายไป”

ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคหลายอย่าง แต่ผลพวงการสงครามยูเครนที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน กดดันให้เยอรมนีเผชิญกับความท้าทายใหญ่ที่จะมาถึง

แฟรตส์เชอร์ เพิ่มเติมว่า “ความท้าทายที่ใหญ่กว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีหน้าเท่านั้น แต่จะยิงยาวไปราว 5-10 ปี เนื่องจากเยอรมนีกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหลายมิติ บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องเตรียมรับกับการเสียเปรียบทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ ที่ไม่เผชิญกับการปรับขึ้นของราคาพลังงานมากเท่ากับบริษัทเยอรมนี”

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า ครัวเรือนเยอรมันที่มีรายได้ 39,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,486,000 บาทต่อปี จะเจอกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นราว 4,800 ดอลลาร์ หรือราว 183,000 บาทต่อปีทีเดียว นั่นหมายความว่า ต้นทุนพลังงานจะส่งผลกระทบครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลางอย่างมาก

ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกธุรกิจเจอกับความท้าทายกันทั้งนั้น แต่หากไม่เดินหน้าต่อก็เท่ากับว่าต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน แต่หากทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับเหล่าพนักงานที่ถูกลอยแพ เพราะธุรกิจเบเกอรีของเราจ้างงานถึง 20 ชีวิต และนั่นหมายถึงรายได้หาเลี้ยงครอบครัวของพวกเขา สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป”

ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังผ่านพ้นไปและฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาเยือน เยอรมนียังต้องเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่มีแน่นอนมากกว่าที่เป็นมาในรอบหลายปีต่อไป (ที่มา: วีโอเอ)

Advertisement