business highlight online : 1 มีนาคม 2566 กลุ่ม ปตท.ขนทัพเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจใหม่ ปตท. จัดแสดง 28 ก.พ. – 3 มี.ค. นี้ ณ ปตท. สํานักงานใหญ่ พบผู้นำด้านนวัตกรรมสุดล้ำ พร้อมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต รวมทั้งนําเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท.ที่พร้อมจับมือต่อยอดและขยายโอกาสสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในพิธีเปิดงาน PTT Group Tech and Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ”Beyond Tomorrow:นวัตกรรม นำอนาคต” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้บริหาร ปตท. พันธมิตรภาครัฐและเอกชนชั้นนำเข้าร่วม
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งาน PTT Group Tech and Innovation Day จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท.ตลอดจนสร้างการรับรู้ของเทคโนโลยีในอนาคตและหาโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ทั้งจากภายในกลุ่ม ปตท.และหน่วยงานภายนอก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero Emissions การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
1.นิทรรศการ แสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจใหม่จาก กลุ่ม ปตท. ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Future Energy, Future Mobility, Life Science, AI, Robotics & Digitalization, Logistics & Infrastructure, Decarbonization และ Innovation Ecosystem ที่มีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์จากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระบบการขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน
2.Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด และเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 23 หัวข้อ
3.Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุย ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน ตลอดจนจะได้พบกับสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ช้อป ชิมจากกลุ่ม ปตท. อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจาก Innobic, น้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt, , อาหารโปรตีนจากพืช NRPT, ไอศกรีมกะทิสดแท้ Kathisod Station และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจาก MORE
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งาน PTT Group Tech & Innovation Day ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยตลอดทั้ง 4 วัน นอกจากผลงานต่างๆ ที่มีการนำเสนอภายในงานแล้ว กลุ่ม ปตท. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ ให้ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อม เทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนและความต้องการของภาคธุรกิจ ที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสาคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเป็นที่ยอมรับท้ังในภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลก พร้อมขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตได้ตามวิสัยทัศน์ของ ปตท.
นายสุพัฒนพงษ์ ยังได้กล่าวปาฐกถา เปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีพลังงานจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม (ฟอสซิล) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการตามกติกาของโลก โดยวางโรดแมป การมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 ภายใต้การดำเนินงานใน 6 แผนงาน ประกอบด้วย
1.ภาคไฟฟ้า จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ ลม ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2586 (ค.ศ.2043)
- ภาคขนส่ง มุ่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามนโยบาย 30@30 และการลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่
3.ภาคอุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ลดความเข้มการใช้พลังงาน 40% ในปี 2593 (ค.ศ.2050)
4.การลดนอกเหนือจากภาคพลังงาน (กระบวนการอุตสาหกรรม เกษตร ของเสีย)
5.ปลูกป่า
และ 6. ส่งเสริมมาตรการและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS)
ทั้งนี้ เชื่อว่าจากโรดแมปดังกล่าว ประเทศไทยอาจไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าแผน โดยเฉพาะหากมี CCUS เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ กฟผ. ก็เข้าไปดูพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ร่วมกับ ปตท.สผ. เพื่อพัฒนาเป็น CCUS และก็ดูพื้นที่ในอ่าวไทย ขณะเดียวกัน กลุ่มปตท.เอง ก็ได้ไปจัดวางพอร์ตลงทุนสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ด้วย ฉะนั้นไทยจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ปตท.อาจจะมีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาด แต่หาก ปตท.ปรับตัวได้ทันผันไปสู่การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตวกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ก็จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ปตท.ก็มีการปรับตัวเข้าไปศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนด้านพลังงานใหม่ร่วมกับพันธมิตร และวันนี้ สิ่งที่ ปตท.ได้ดำเนินการไว้กำลังจะออกดอกและผลให้กับ ปตท.ในอนาคต และจะเกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดทั้งการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,000-10,000 เมกะวัตต์ ส่งเสริมการตั้งฐานผลิตรถอีวี แบตเตอรี่ และที่สำคัญแม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แต่ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศ 30% แต่จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทำให้ผู้ผลิตลังเลและตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่วันนี้ประเทศจะดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมา ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท.ก็มีการลงทุนในด้านนี้ด้วยก็เชื่อว่าจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวย้ำว่า วันนี้ ทุกคนจะหันกลับมาประเทศไทยแล้ว และยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ล่าสุดปี 2565 อยู่ที่ระดับ 6.6 แสนล้านบาท ถือเป็นทิศทางการลงทุนที่ดีมาก ซึ่งในอดีตยอดขอ BOI เคยไปแตะ 1 ล้านล้านบาท ฉะนั้น ถ้าไทยสร้างฐานดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนก็จะไปแตะ 1 ล้านล้านบาทได้ ก็จะเป็นผลพวงให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้
นายนฤตย์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวในงานเสวนา “Thailand Strategic Direction for Future” ว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอในช่วงปี 2558-2565 มีมูลค่ารวม 2.22 ล้านล้านบาท โดยมีประเทศญี่ปุ่นลงทุนเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 24% ของมูลค่าเอฟดีไอทั้งหมดซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนในอนาคตมาจาก ศักยภาพของตลาด,โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ,ความพร้อมของบุคลากร ,กฎระเบียบที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ, ฐานอุตสาหกรรมสนับสนุน, ต้นทุนที่เหมาะสมและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาถึงเรื่องต่างๆเหล่านี้ด้วย เช่น สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการสถานการณ์ที่ไม่กระทบธุรกิจและความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
สำหรับจุดแข็งของไทยในการดึงดูดการลงทุนในอดีต คือ โครงสร้างพื้นฐานดี เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน โทรคมนาคมท่าเรือ สนามบินและนิคมอุตสาหกรรม, ฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนความพร้อม เช่น วัตถุดิบ ชิ้นส่วนรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ, บุคลากรโดยรวมมีคุณภาพ,ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ,สิทธิประโยชน์แข่งขันได้และสภาพแวดล้อมน่าอยู่ เป็นมิตรกับธุรกิจและมีต้นทุนที่เหมาะสม ส่วนจุดแข็งใหม่ของไทย คือ EEC โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก,Renewable Energy พลังงานทดแทน,Resiliency ความยืดหยุ่น,Ease of Investment and Living in Thailand ความยากง่ายในการลงทุนและการพำนักอาศัยในเมืองไทย รวมทั้ง Conflict-free Zone ความขัดแย้งในเขตปลอดอากร เป็นต้น
ทั้งนี้ มี 5 อุตสาหกรรมที่เรากำลังจะพุ่งเป้าไป คือ 1.BCG โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2.EV รถพลังงานไฟฟ้า 3.Smart Electronics อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4.Digital ดิจิทัล 5.Creative ความคิดสร้างสรรค์
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2566-2570) คือ 1.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและสร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน 2.เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะและยั่งยืน หรือ Smart and Sustainable Industry 3.ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค 4.ส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ท อัพ ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อโลก 5.ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่เพื่อสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึง 6.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคม และ 7.การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต
Advertisement