มหาดไทยร่วมภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อน BCG โมเดลสู่การพัฒนายั่งยืน

137

business highlight online : 20 เมษายน 2566 กระทรวงมหาดไทยร่วมภาคีเครือข่าย จัดงานสัมนาความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ด้วย BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการสัมนาความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม Agriculture Solar Solutions เพื่อโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG โมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท AMARENCO (อะมาเรน โก้ ) และมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ

โดยมีนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา Mr. Alain Desvigne (เอแรง เดวีน ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท AMARENCO นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี ร่วมในการแถลงข่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ รวมถึงพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ตลอดจนแนวพระราชดำริอื่น ๆ ได้รับการขับเคลื่อนขยายผลสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ สร้างประเทศไทยให้มีความยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมกับองค์การสหประชาติประจำประเทศไทย ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเริ่มจากทฤษฎีใหม่ขั้นต้น คือ การสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนในระดับจุลภาค สร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า SEDZ Earthsafe Ecovillage เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคีเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ อาทิ 1) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน 2) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 4) กระทรวงการคลัง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5) มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earthsafe Foundation 6) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7) สถาบันทิวา 8) Central Food Retail Group 9) Dusit Thani Group 10) บริษัท VaSLab จำกัด และ 11) บริษัท Amarenco (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท AMARENCO ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้นำนวัตกรรม Agriculture Solar Solutions มาถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับชุมชนที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อช่วยสร้างกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้ประกอบสัมมาอาชีพ พึ่งพาตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมยกระดับพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของแต่ละชุมชน

“ความร่วมมือ “SEDZ Earthsafe Ecovillage” เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนเป็น Partnership ที่จะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ สถานการณ์สาธารณภัย ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือวาตภัย ยังผลทำให้มีหลักในการใช้ชีวิตอันจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี เสริมสร้างรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

Advertisement