business highlight online : 11 พฤษภาคม 2566 ปตท. กำไรไตรมาส 1/66 จำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 12.4 ส่วนผลกระทบราคาน้ำมันลดฮวบส่งผลขาดทุนสตอกทั้งกลุ่มพุ่ง
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลทำให้ทั้งกลุ่มขาดทุนจากสตอกน้ำมันเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 1/65 ประมาณ 34,000 ล้านบาท แม้ว่า Market GRM เพิ่มขึ้นจาก 6.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1/65 เป็น 8.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1/66 จากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันเบนซิน กับน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น รามทั้งปริมาณขายเพิ่มขึ้น ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงจากปริมาณขายที่ลดลง ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบส่วนใหญ่ปรับลดลง นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณขายลดลง รวมถึงต้นทุนค่าเนื้อก๊าซฯ สูงขึ้นตามราคาก๊าซฯ ในอ่าวที่ปรับเพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจระบบท่อส่งก๊ซฯ มีผลการดำเนินงานลดลง จากการปรับอัตราค่าผ่านท่อตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ประกอบกับมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยหลักจากรายการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ จากการสิ้นสุดสัมปทานโครงการบงกช ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) กับมีการรับรู้ส่วนลดจากปริมาณที่ผู้ผลิตส่งได้ไม่ถึงปริมาณตามสัญญา (Shortfal) มีผลกำไรประมาณ 900 ล้านบาท และจากการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Ichinoseki Solar Power 1 GK ของ GPSC ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท
ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563-2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น
ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพและรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี
Advertisement