นายกฯ ลั่นแก้หนี้ทั้งระบบให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้

245

Business Highlight Online : 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ย้ำแก้หนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ใน-นอกระบบ ให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ เผยทยอยมีผลสำเร็จเจรจาแก้ไขหนี้ในส่วนหนี้นอกระบบจบหนี้แล้ว 12,000 กรณี มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท วอนแบงก์ช่วยผ่อนปรนดอกเบี้ยในระบบเรื้อรัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีมแถลงความคืบหน้าแก้หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งมีทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมแถลง โดยยืนยันว่า จะแก้หนี้ทั้งระบบให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้บูรณาการทั้งระบบในการแก้ปัญหา มีการจัดตั้งตลาดนัดแก้หนี้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เปิดให้ลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียน ประสานเจ้าหนี้ในการเข้ามาแก้ปัญหา ให้ลดดอกเบี้ยเป็นไปตามกฏหมายที่กำหนด และดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ลูกหนี้บางส่วนไม่ยอมมาลงทะเบียน ขอความร่วมมือในการลงทะเบียน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างครบวงจรเบ็ดเสร็จ

ส่วนลูกหนี้ในระบบ มีการประสานทั้งลูกหนี้ ในส่วนชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้ง 4 กลุ่ม พร้อมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน ร้อยละ 4.75 กำหนดนโยบายให้ลูกหนี้ที่มีเงินเดือน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู ตำรวจ กำหนดแผนจะต้องมีเงินเดือนเหลือจากหักหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 มีการขอให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเข้ามาดูแล ผ่อนปรนดอกเบี้ย ฝึกอาชีพ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้กลับไปเป็นหนี้เสียซ้ำอีก นับเป็นแนวทางแก้หนี้ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง นำไปสู่อัตราการลดดอกเบี้ยในระบบให้ต่ำเหลือร้อยละ 3-5 พร้อมให้ดำเนินการหักเงินเดือนในลักษณะหักเงินต้นและดอกเบี้ยควบคู่กันไปด้วย

สำหรับการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ธ.ค.66 ไกล่เกลี่ยสำเร็จไปแล้ว 12,000 กรณี มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท จากผู้ลงทะเบียน 1.4 แสนราย หนี้รวม 9,800 ล้านบาท มีการให้ข้อมูลครบทั้งลูกหนี้-ลูกหนี้ 2.1 หมื่นราย

สำหรับการดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบดำเนินการ 4 ขั้นบันได

1.ดำเนินการเชิงรุก ประชาสัมพันธ์การลงทะเบียน และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการแก้หนี้ได้อย่างสะดวก ทาง ก.มหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เปิดตลาดนัดแก้หนี้ในทุกจังหวัด อย่างน้อยเดือนละ 4 หน

2.เจ้าหน้าที่ตำรวจกวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบ ในส่วนที่ทวงหนี้รุนแรง ทั้งกรณีรับจำนำรถยนต์ จักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมาย

3.มอบ ก.คลัง โดยธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. ร่วมจัดหาแหล่งเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ หลังการไกล่เกลี่ยหนี้ และจัดพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มแก่ลูกหนี้ ซึ่งได้ย้ำว่า ขอให้ 2 แบงก์รัฐ นำเงินไปช่วยลูกหนี้ที่ยากลำบาก ดีกว่ากอดกำไรเพียงอย่างเดียว

4.ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก ให้มีรายได้เพิ่ม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเสริมทัพ พัฒนาฝีมือแรงงานให้ สร้างรายได้เพิ่ม นับเป็นการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

ส่วนลูกหนี้ในระบบ ได้จัดลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม  มีความคืบหน้าตามลำดับ ได้แก่

1.ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 ได้ช่วยเหลือ 6.3 แสนบัญชี วงเงิน 4 พันล้านบาท คาดว่าราว 3 แสนราย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จะมีการประสานให้ปิดหนี้ได้ปลาย ก.พ.นี้ ส่วนเอสเอ็มอี จะช่วยให้สถานะการกู้กลับมาปกติ ไม่ติดเครดิตบูโร โดยขณะนี้กำลังช่วยเหลือเอสเอ็มอีราว 1 หมื่นราย วงเงิน 5 พันล้านบาท

2.กลุ่มลูกหนี้รายได้ประจำ แต่มีหนี้เกินศักยภาพ เช่น  ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่ามี 80 สหกรณ์ ทยอยลดดอกเบี้ย คาดจะช่วยได้กว่า 3 พันราย กลุ่มนี้ยังเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต 1.5 แสนบัญชี ทางออมสินกำลังเจรจากับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อสวัสดิการ

3.กลุ่มรายได้ไม่แน่นอน เร่งช่วยเกษตรกรพักชำระหนี้ 1 ปี 1.8 แสนราย มูลหนี้ 2.5 แสนล้านบาท เงินกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 6 แสนราย ทำแผนช่วยลดภาระปลดหนี้ โดยสามารถลดภาระแล้วราว 3.5 ล้านราย ราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายใหม่ของ กยศ. ที่มีการคำนวณเรื่องการคืนหนี้ใหม่

4.หนี้เสียคงค้างเป็นเวลานาน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมทุนในการให้ธนาคารจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เป็นบริหารสินทรัพย์ โดยธนาคารออมสิน เตรียมร่วมทุนจัดตั้งบริหารทรัพย์สิน ในไตรมาส 1/67 จะมีการโอนหนี้ขายไปยังบริษัทใหม่ และจะช่วยเหลือลูกหนี้แบบผ่อนปรนต่อไป

“2 เดือนนี้ ภาครัฐบูรณาการช่วยเหลือหนี้ทั้งระบบอย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ แต่ต้องขอความร่วมมือเจ้าหนี้-ลูกหนี้ สมัครเข้าโครงการให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง เพื่อให้แก้ปัญหาตรงจุด โดยลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต โทร. 1567 หรือศูนย์ดำรงธรรม ขอให้อย่ารอจนเป็นหนี้เสีย ขอให้เชื่อมั่น แก้หนี้สิน จะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบในรัฐบาลนี้ให้ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาหนี้ โดยในส่วนของข้าราชการได้เจรจาให้มีการหักเงินเดือนและการชำระหนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบสินเชื่อสวัสดิการที่มีเงินเดือนเหลือราว 30% จึงช่วยกันไกล่เกลี่ยเจรจา ทั้งนี้ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อแก้หนี้ ซึ่งมีแบงก์พาณิชย์บางแห่งให้ความร่วมมือที่ดี ช่วยลดดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรนเหลือร้อยละ 3-5 มีการชำระเงินกู้ ทั้งดอกบี้ยและเงินต้น ก็ช่วยแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นอย่างดี คาดหวังธนาคารพาณิชย์ที่เหลือจะให้ความร่วมมือ

Advertisement