ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 7

164

Business Highlight Online : 7 มีนาคม 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ.67 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อานิสงค์จากมาตรการรัฐผ่านลดค่าไฟฟ้า น้ำมันและอื่นๆ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยดีขึ้น แต่ยังกังวลหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 67 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจทั้งการเมืองและแนวทางช่วยเหลือลดค่าครองชีพทั้งไฟฟ้าและค่าน้ำมัน แต่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยและอาจมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาคในอนาคต

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 57.7 60.4 และ 73.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม ที่อยู่ในระดับ 56.9 59.5 และ 72.2 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นเป็นลำดับว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูงการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวจากระดับ 62.9 เป็น 63.8 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 48 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาอาจยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากระดับ 46.2 เป็น 46.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 70.9 มาอยู่ที่ระดับ 71.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แสดงว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 67 ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 55.0 แม้ว่าภาคธุรกิจกังวลปัญหาสงครามในอิสราเอล และกังวลภัยแล้ง ปัญหา PM2.5 ปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจยังโตไม่โดดเด่น แต่ยังเกินระดับค่ากลาง 50 ติดต่อกัน 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 66 แสดงว่ายังมองเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อยากให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนมากขึ้น รวมถึงหามาตรการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งระบบให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งจัดการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้ลดลงอีกด้วย

Advertisement