“ปานปรีย์” ชี้การเปลี่ยนผ่านพลังงานคือหัวใจสำคัญเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

116

Business Highlight Online : 30 มีนาคม 2567 “ปานปรีย์” เผยไทยมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065 ชี้การเปลี่ยนผ่านพลังงานคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยเสนอเป็นฐานผลิตสหรัฐ-อียู แทนจีน ในอุตสาหกรรม “ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัล-เอไอ” พร้อมเร่งแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ระดับนานาชาติ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Thailand Net Zero Strategy 2065” ในงานเสวนา “Thailand Net Zero 2024 – Now or Never” โดยระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือกับนานาประเทศในการลดการปล่อยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมีแนวทางปฎิบัติใน 3 ด้าน ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การพัฒนาประเทศควบคู่กับการปกป้องสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และจุดยืนของประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ

สำหรับภูมิรัฐศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ปัจจุบันโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ ยังมีสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความมั่นคงทางด้านพลังงาน เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อประชาคมโลกในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนโยบายการดำเนินการของไทย จึงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมการลงทุน นโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว การส่งเสริมขีดความสามารถและการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อส่งเสริมการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน

ด้านการพัฒนาประเทศควบคู่กับการปกป้องสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ขณะนี้การปกป้องสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นปัจจัยในการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นทุกประเทศต้องร่วมกันในระดับความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนผ่านพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศโดยในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) เมื่อปลายปี 2566 ที่ประเทศต่างๆ กำหนดเป้าหมายทางพลังงานร่วมกัน ในการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ประเทศไทยจึงต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานภายในประเทศเพื่อตอบสนองความมุ่งมั่นประชาคมโลก เพื่อเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นที่ตั้ง

“ประเทศไทยเสนอเป็นฐานการผลิตของสหรัฐและสหภาพยุโรปที่กำลังเปลี่ยนผ่านฐานการลงทุนออกจากจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้านพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัลและเอไอ เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางนวัตกรรม อีกสิ่งหนึ่งคือการให้ความสำคัญคือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและนวัตกรรมจากพลังงานทดแทน และเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งไทยเองต้องติดตามมาตรการต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการนำมาตรการเหล่านี้มากีดกันทางการค้า และสร้างกลไกรองรับการค้าและเศรษฐกิจในไทย” นายปานปรีย์ กล่าว

นอกจากนี้ ไทยยังเร่งพัฒนาการเศรษฐกิจ ไทยสีเขียวให้เทียบเท่ามาตรฐานโลก อาทิ โครงการที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด กองทุน ThaiESG ที่สามารถนำไปหักภาษีเงิน และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนที่มุ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและภาครัฐลงทุนสำหรับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกลไกเหล่านี้เป็นทางที่จะสามารถต่อยอดและขยายผลจากความสำเร็จสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศต่อไปได้ ยังมีการเร่งดำเนินทางการค้าเศรษฐกิจเชิงรุกลงสู่เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาหารือกับผู้นำในหลายประเทศเพื่อเจรจาหารือมุ่งสู่อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ เขตการค้าเสรี (FTA) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่เน้นส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในด้านจุดยืนของประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้น ประเทศไทยส่งตัวแทนภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมกำหนดนโยบายในเวทีต่างประเทศด้านภูมิอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) ทั้งนี้ ไทยได้รับการประเมินว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ในดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก ( Global Climate Risk Index )

ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีการบูรณาการหน่วยงานเต็มที่เพื่อเร่งแก้ปัญหาทั้งในบริบทของประเทศไทยเอง และการขับเคลื่อน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ในกรอบอาเซียน ภายใต้ความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ โดยในปี 2566 มีการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการที่ทันต่อการแสดงความมุ่งมั่นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนาต้องการได้รับการสนับสนุนเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมและยินดีที่จะที่จะประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน เพื่อแสวงหาวิธีการแนวทางใหม่ๆ ก้าวข้ามความท้าทายและลงมือทำเพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 เป็นสังคมคาร์บอนต่ำที่แท้จริงตลอดไป

Advertisement