สมาคมธนาคารไทย เร่งพัฒนา Open Loop รองรับจ่ายเงินดิจิทัลวอลเลตไตรมาส 3

127

Business Highlight Online : 5 มิถุนายน 2567 สมาคมธนาคารไทย เร่งประสาน PSO-DGA เพื่อทำความเข้าใจ-ศึกษาแนวทางพัฒนาระบบชำระเงิน Open Loop สำหรับจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท โครงการดิจิทัลวอลเลต

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย กล่าวถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะแจกให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มแรก 14.98 ล้านคน ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 ว่าเป็นการดีที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแรกตามข่าวคือกลุ่มเปราะบาง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านกลไกใดบ้าง เช่น บางข่าวก็บอกว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบางข่าวบอกว่าผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็ต้องรอดูรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจ่ายเงินผ่านกลไกใดก็ตาม หากเงินถึงกลุ่มเป้าหมายผลที่ได้ก็น่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ส่วนความคืบหน้าการทํา Open Loop ที่กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือธนาคารรัฐ-ธนาคารพาณิชย์ เชื่อมข้อมูล open loop รองรับใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสมาคมธนาคารไทย ได้มอบหมายให้สำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย (Payment System Office PSO) ร่วมกับประธานชมรมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer :CIO) ของธนาคารพาณิชย์ ประสานกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ผู้พัฒนาระบบเพื่อทำความเข้าใจและดูความสามารถในการพัฒนาระบบที่เป็น Open loop ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยประสานงานกัน ส่วนจะทันการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รอบแรกในไตรมาส 3 ของปี 2567 หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเร่งดำเนินการเพราะทางรัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน

“เราก็พยายามเร่ง แต่ DGA เป็นผู้พัฒนาระบบ เราก็ต้องทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมและวิธีการเชื่อมต่อ ซึ่งทุกธนาคารควรจะร่วมหมด แต่มันเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางชมรม CIO ดูแลไอทีและข้อมูลทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ และด้าน PSO เพื่อประสานงานกับ DGA ซึ่งมีการประชุมร่วมกันบ่อย” นายผยง กล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้มีความเข้มงวดมากขึ้นตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นจากตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และยอดผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ดังนั้นการปล่อยกู้ของธนาคารจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกำลังดำเนินการเรื่องนี้เต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องจะต้องทำในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ให้กู้และเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งส่งเสริมให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการยื่นชำระภาษี หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีแผนร่วมกับพันธมิตรในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโมเดล และคาดว่าจะสามารถยื่นได้ทันตามกำหนด 19 กันยายน 2567 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้ ส่วนกลุ่มก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์นั้นถือเป็นหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทยเพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงานอื่นๆ จึงต้องมองว่า การชะลอหรือชะงักไปนั้นมาจากสาเหตุของอะไร งบประมาณที่ล่าช้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากไตรมาส 3 เงินงบประมาณออกมาจะช่วยให้ดีขึ้น ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ทั้ง NPL และ NPA นั้น ในส่วนของธนาคารกรุงไทย พิจารณาแล้วว่าการบริหารจัดการเองจะเหมาะสมกว่าการจัดตั้ง AMC.

Advertisment