Business Highlight Online : 11 สิงหาคม 2567 นายกฯ ให้ความสำคัญการช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่อุปทาน ด้วยมาตรการ “การส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์”
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสร่วมทุน มีโอกาสทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่อเนื่องสู่การเปลี่ยนผ่านการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยส่วนใหญ่กว่า 1,300 ราย เป็น SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนในระดับ Tier 2-3
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลมองว่าจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศได้ จะต้องเปิดโอกาส สนับสนุนการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เพื่อขยายเครือข่ายทางธุรกิจ ถ่ายทอดเรียนรู้ทางเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร เพิ่มโอกาสในการใช้วัตถุดิบในประเทศ จากผู้ประกอบการในประเทศ
โดยมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะครอบคลุมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบสันดาปภายในและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเป็นการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่หลังวันที่ออกประกาศ ต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและต่างชาติ โดยมีนิติบุคคลไทยถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน และ กรณีที่ 2 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่แต่เดิมเป็นหุ้นต่างชาติทั้งหมด หากประสงค์ขอรับการส่งเสริม จะต้องร่วมทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียน
โดยผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยตามเงื่อนไขของมาตรการนี้ ต้องจัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจนถึงวันยื่นคำขอ และต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 60% ของทุนจดทะเบียน โดยทั้งสองกรณี จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2568 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากหลักเกณฑ์ปกติอีกเพิ่มเติมอีก 2 ปี
“นายกรัฐมนตรีส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในทุกมิติของการลงทุน และสั่งการให้เพิ่มแต้มต่อ ออกแบบนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่น่าสนใจ ดึงดูด ส่งเสริมการลงทุน โดยในส่วนของกิจการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งในยานยนต์รูปแบบเดิม และยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ตามมาตรการและสิทธิประโยชน์ข้างต้น จะทำให้เกิดเป็นความร่วมมือ ขยายเครือข่ายทางธุรกิจ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้ประกอบการไทยอยู่ได้ รองรับการเปลี่ยนผ่าน พร้อมปรับตัวสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ไปด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ มีโอกาสสำคัญสู่ประตูห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” นายชัย กล่าว
Advertisement