“สมคิด” ลงนาม MOU ร้านค้าและตลาดประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

1801

business highlight online : เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิทแพค เมืองทองธานี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนร้านค้าและตลาดประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน พร้อมกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

โอกาสนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งมั่นทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและสร้างโอกาสให้ประชาชนเติบโตก้าวหน้า ตามแนวคิด Local Economy ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ช่วยเหลือเกษตรกร ในธุรกิจ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความสมดุลของภาคการผลิตและการค้า ใช้กระบวนการประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็ง จากการร่วมมือ ร่วมใจ และการสานพลังของทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ

ปัจจุบัน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ดำเนินการ มีสมาชิกมากกว่า 13 ล้านราย วงเงินกู้เพื่อใช้ประโยชน์เติบโตต่อเนื่องทุกปี ได้สร้างกลไกการตรวจสอบที่โปร่งใสเป็นธรรม โดยมีคณะอนุกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมกำกับดูแลสร้างกติกาในระดับประเทศ และมีคณะดำเนินงานในแต่ละกองทุนทำหน้าที่ตรวจทานความเหมาะสมรายโครงการทั้งช่วงก่อนการอนุมัติและช่วงดำเนินการ อีกทั้งมีอาสาสมัครประชารัฐกว่า 240,000 คนคอยติดตามและสนับสนุนโครงการต่างๆให้ประสบผลสำเร็จตามแนวทางประชารัฐอย่างแท้จริง จากการสนับสนุนระดับนโยบายของรัฐบาลผ่านโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายชุมชนสามารถจัดตั้งตลาดและร้านค้า ส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนได้สำเร็จ ปัจจุบันมีร้านค้าชุมชนถึง 19,270 แห่ง และตลาดชุมชนอีก 1,359 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนให้สามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้จริง อย่างไรก็ตาม บริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็สร้างความท้าทายให้แก่ตลาดและร้านค้าชุมชนในหลายด้าน จึงจำเป็นต้องเข้ามาติดปีกสมาชิกกองทุนให้มีความสามารถท่ามกลางการแข่งขันสูงขึ้นด้วย

จากนั้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวบรรยายพิเศษเพิ่มเติมว่า มิติในการพัฒนาตลาดและร้านค้าครั้งนี้ ไม่ใช่มิติในการพัฒนาเหมือนเดิม แต่เป็นมิติในการพัฒนาที่เติมเทคโนโลยีเข้าไป เติมการบริหารจัดการเข้าไป เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญในชุมชน สร้างอาชีพเพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการเกษตรโดยไม่ต้องเข้าเมืองใหญ่ สร้างเวทีให้สินค้าชุมชนมีช่องทางการขายให้เติบโตก้าวหน้า ลดรายจ่ายให้ประชาชนจากการเข้าถึงสินค้าในราคายุติธรรม และคืนกำไรจากการดำเนินการกลับสู่ชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นและต่อยอดการสร้างโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มแนวคิด “ตลาดและร้านค้าประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน” โดยเป็นการยกระดับตลาดและร้านค้าประชารัฐ โดยมี 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

– ส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการภายในตลาดและร้านค้าชุมชน

– เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าในชุมชนต่างๆ มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

– พัฒนาระบบบัตรสมาชิกตลาดและร้านค้าชุมชนให้เป็นระบบและมีศักยภาพ สามารถใช้สร้างกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ

– สร้างระบบวิเคราะห์ข้อมูล

– พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกผู้ประกอบการตลาดและร้านค้าชุมชนให้มีความสามารถในการต่อยอดกิจการสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

ด้าน นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า ผลการปฏิบัติงานจากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้รับการสนับสนุนจากภาคีในทุกภาคส่วนกว่า 60 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคีที่จะเข้ามาพัฒนาสินค้าเพื่อส่งเข้าสู่ตลาดและร้านค้าชุมชน กลุ่มภาคีที่จะเข้ามาร่วมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการตลาดและร้านค้าชุมชน กลุ่มภาคีที่จะเข้ามาเพิ่มโอกาสและช่องทางการขายให้แก่ตลาดและร้านค้าชุมชน กลุ่มภาคีที่จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

– เริ่มจากการออกแบบโครงสร้างทั้งระบบและขับเคลื่อนทุกภาคีทุกภาคส่วนสู่เป้าหมายเดียวกัน

– ควบคู่ไปกับการเร่งจัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของสมาชิกกองทุนทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูง รวมถึงการคัดสรรสมาชิกที่มีศักยภาพสูงเพื่อต่อยอดให้เป็นต้นแบบความสำเร็จและสร้างแฟรนไชส์ขยายผลทั่วประเทศ

– แล้วจึงพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้สมาชิกกองทุนสามารถใช้ติดปีกสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัลอย่างภาคภูมิ

ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมร้านค้าประชารัฐและตลาดประรัฐดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่า 125,000 ล้านบาทต่อปี สร้างงานให้ประชาชนในชุมชนกว่า 260,000 อัตรา อีกทั้งเป็นการสร้างกลไกรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างตรงจุด โปร่งใสและวัดผลได้จริง ซึ่งทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่มั่นคง พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป

จากนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐและอนุมัติหลักการงบประมาณในการดำเนินโครงการในกรอบวงเงิน 35,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐภายใต้โครงการดังกล่าว อันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงสนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,566 กองทุน วงเงินไม่เกินกองทุนละ 500,000 บาท เพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้าน/ชุมชน และเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่หมู่บ้าน/ชุมชนซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชนให้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากโครงการที่มีลักษณะเสริมสร้าง และสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นของรัฐบาล และเป็นโครงการที่มีกิจกรรมต่อเนื่องมีการหมุนเวียนรายได้ และผลกำไรเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่ได้มาพบพี่น้องประชาชนในวันนี้ เพราะพี่น้องประชาชนคือความหวังและเป็นแนวร่วมที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต ที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพี่น้องประชาชนยังไม่สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ โดยเฉพาะเป้าหมายของความสำเร็จนั้นยังอยู่อีกไกล แต่ก็จำเป็นต้องก้าวเดินไปให้ถึง เพราะว่าปัญหาในประเทศไทยมีปัญหาใหญ่ๆอยู่ 2 ประการ คือ

1.เรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกเริ่มแข็งขันได้ยากขึ้น เพราะสินค้าเริ่มมีความล้าสมัย ทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศมีแนวโน้มแข่งขันได้น้อยลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพยายามฟื้นความสามารถในการแข่งขันให้กลับคืนมาตามนโยบาย “เราจะก้าวสู่เศรษฐกิจ 4.0 หรือ Thailand 4.0” ตามดำริของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เคยดำริไว้ให้ได้

2.เรื่องของความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องของการกระจายรายได้ และปัญหาความยากจนของคนในชนบท โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้ประเทศไทย สังคมไทย ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร

ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้พยายามเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เพื่อจะให้ประชาชนที่ยากจน หรือประชาชนที่อยู่ในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่สามารถจุนเจือครอบครัว ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี มีการดูแลด้านสุขอนามัย และมีโอกาสในชีวิตที่ดีเหมือนกับคนอื่นๆมากขึ้น

ดังนั้น การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจึงจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือทั้งระบบ ซึ่งทางรัฐบาลได้กำชับทุกหน่วยงาน และทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้สามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในท้องถิ่น ผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยสินค่าดังกล่าวจำเป็นต้องมีส่วนช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง โดยทางกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายกิจกรรมการค้าการขายในตลาดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยอย่างมาก เพื่อจะได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ทางรัฐบาลมีแนวความคิดให้ทาง BOI ไปจัดตั้งร้านซุปเปอร์สโตร์ในต่างประเทศ เพื่อจะได้ช่วยกระจายสินค้าของชุมชน เพื่อจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยเข้มแข็ง จะช่วยทำให้ลดการพึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียวได้ ทำให้เกิดดุลยภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้จัดสรรเงินลงไปช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาท ทั้งในเรื่องการช่วยเหลือภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกร หรือการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก กองทุนหมู่บ้าน บ้านประชารัฐ การลงทะเบียนคนจน การขจัดหนี้นอกระบบ เงินกู้ฉุกเฉิน เป็นต้น จะเห็นว่าทางรัฐบาลมีความจริงใจ และคิดจริงทำจริง เพื่อต้องการเปลี่ยนประเทศไทยและสังคมให้ดีขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงโครงการอบรมสัมมาชีพ เพื่อจะนำคณะกรรมการในชุมชนเข้ามาเรียนรู้ เพื่อให้มีความคิดอ่านที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะได้รู้แนวทางในการบริหารจัดการในยุคสมัยใหม่ เช่น การค้าขายผ่านระบบ E-COMMERCE การค้าขายแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยการเข้าอบรมดังกล่าวจะช่วยในเกิดการพัฒนาตนเอง และยังช่วยให้ลูกหลานในท้องถิ่นมีสัมมาชีพ สามารถประกอบอาชีพอิสระได้ สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้

เศรษฐกิจฐานราก / ชุมชน : “สมคิด” ลงนาม MOU ร้านค้าและตลาดประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

business highlight online : post 9 มีนาคม 2560 เวลา 02.05 น.