business highlight online : เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์พร้อมผลักดันสินค้าและบริการฮาลาลของไทยสู่ตลาดในกลุ่มประเทศมุสลิมและตลาดโลก
โดยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาลและผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่สำคัญเพื่อการส่งออกรายใหญ่ของโลก มีตลาดส่งออกทั้งในประเทศกลุ่มมุสลิม ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นตลาดใหญ่สำหรับอาหารฮาลาล เช่น อินเดีย จีน สหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งรวมกันแล้วทั่วโลกมีประชากรมุสลิมกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 25 ของประชากรโลก และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารมุสลิมเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี
กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดภาคใต้ชายแดนในการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล เนื่องจากมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิต มีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมีความรู้ความเข้าใจในการรวบรวมวัตถุดิบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตสินค้าฮาลาล จึงได้ผลักดัน “โครงการสินค้าฮาลาลของดีแดนใต้สู่ตลาดโลก” โดยกำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการบริหารจัดการและวางแผนธุรกิจฮาลาล และหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพ รูปแบบและบรรจุภัณฑ์สินค้าและบริการฮาลาลให้มีความหลากหลายไปสู่ตลาดบน มีการเชื่อมโยงกับตลาดเครือข่าย เช่น Outlet ห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า จัดให้มีการแสดงสินค้า พร้อมเจรจาคู่ธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาระบบตลาดการค้า Online โดยการเชื่อมโยงสู่ตลาดซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต อาทิ Thaitrade.com และ Alibaba เป็นต้น มีการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลระดับสากล (Website) การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางโทรทัศน์ (T.V. Shopping) การค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Commerce) ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดภาคใต้ชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเจ้าภาพหลัก และประสานงานกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการค้าในยุคดิจิทัล โดยจะเริ่มโครงการในเดือนตุลาคม 2560 นี้
“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่กระทรวงพาณิชย์จัดทำขึ้นในจังหวัดภาคใต้ชายแดนครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ฮาลาล รวมทั้งสินค้าบริการอื่นๆ กว่า 200 ราย สามารถนำความรู้ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้าและการตลาดไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ ให้ได้รับเครื่องหมายฮาลาล และเครื่องหมายการค้าได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 ราย มีการเชื่อมโยงกับตลาดเครือข่าย สามารถขยายช่องทางการตลาดผ่านระบบดิจิทัล เชื่อมโยงสู่สากล ส่งผลให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นางอภิรดี กล่าว
การค้าภายใน / การส่งออก : ผลักดัน “สินค้าฮาลาล ของดีแดนใต้ สู่ตลาดโลก”
business highlight online : post 17 เมษายน 2560 เวลา 14.00 น.