business highlight online : วันนี้ (30 เมษายน 2560) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์เฟสบุ๊คชื่อ “Tevin at PTT” เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกกิจการน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท. ว่า เมื่อวันศุกร์ 28 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของ ปตท. ซึ่งครั้งนี้มีวาระสำคัญคือการปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกกิจการน้ำมันและค้าปลีกออกไปอยู่ภายใต้บริษัทลูกคือ PTTOR โดยมีเป้าหมายที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัท Flagship ในลักษณะเดียวกับธุรกิจสำรวจและผลิต ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี และธุรกิจไฟฟ้าครับ
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าจะแยกจาก ปตท.ทำไม? ในเมื่อทำได้ดีอยู่แล้ว มีประโยชน์แอบแฝงอะไรอยู่หรือ? จะทำให้ผู้เปิดปั๊ม ปตท. และผู้บริโภคเดือดร้อนหรือไม่? ก็ต้องขอเรียนว่า ปตท.ได้ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 2 ปี และเหตุผลที่ตัดสินใจทำ ก็เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายดังนี้ครับ
1.เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้รัฐไปดำเนินธุรกิจแข่งกับเอกชน ดังนั้น กิจการนี้ก็ไม่ควรมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่อาจจะได้เปรียบเอกชนอื่นๆ ควรต้องแข่งขันบนพื้นฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในวันนี้ มีผู้ประกอบการมากกว่า 40 ราย เป็นสัญชาติไทยมากกว่า 70% ของตลาด จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐวิสาหกิจมาทำธุรกิจนี้อีกต่อไป
2.การแยกกิจการเป็นบริษัทมหาชน จะทำให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส ในการรายงานผลการดำเนินงาน สังคมสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจนี้ เปรียบเทียบกับเอกชนอื่นๆ ในด้านประสิทธิภาพการแข่งขัน ต้นทุน รวมถึงศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
3.การเป็นบริษัทมหาชนจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และอยู่ภายใต้กติกาเดียวกับผู้ประกอบการเอกชนอื่นๆ เปิดโอกาสให้สามารถขยายกิจการได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะในต่างประเทศกลุ่ม AEC ซึ่งโมเดลของปั๊ม ปตท.ที่มีร้านค้าปลีกต่างๆได้รับความนิยมอย่างสูง
4.ผลจากการขยายธุรกิจได้คล่องตัว รวดเร็วขึ้น จะช่วยให้ SME และร้านค้าพันธมิตรในปั๊ม ปตท.สามารถไปเติบโตด้วยกันใน AEC เป็นทีม Thailand ที่สร้าง Brand และรายได้ให้ประเทศไทย
5.การขายหุ้น PTTOR ให้นักลงทุนและสถาบันการเงิน จะกระตุ้นให้ตลาดทุนของไทยมีขนาดและความสำคัญมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนไทยได้เป็นเจ้าของกิจการนี้โดยตรง ทำให้ ปตท.มีรายได้เพื่อนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศในอนาคต และยังส่งผ่านรายได้ไปเป็นภาษีให้ภาครัฐ
การดำเนินการครั้งนี้ อยู่ภายใต้หลักการที่สำคัญคือ
– การแยกกิจการจะต้องไม่กระทบต่อราคาขายปลีกหน้าปั๊ม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค
– ราคาหุ้น IPO จะต้องสะท้อนมูลค่ากิจการที่แท้จริง เพื่อความเป็นธรรมทั้งต่อภาครัฐในฐานะผู้ถือหุ้น ปตท.และต่อนักลงทุน
– ปตท.จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ PTTOR ในสัดส่วนระหว่าง 45-49%
– ผู้ถือหุ้น ปตท.จะมีสิทธิจองซื้อหุ้น IPO ของ PTTOR ในสัดส่วน 5% ของหุ้นที่จะนำออกจำหน่าย
– การจัดสรรหุ้นที่เหลือ จะต้องโปร่งใส กระจายทั่วถึงนักลงทุนไทยเป็นหลัก
ที่ประชุม AGM ได้อนุมัติการปรับโครงสร้าง และรับทราบความเป็นไปได้ของแผนการ IPO ด้วยคะแนนเสียง 99 % อย่างไรก็ตาม ยังมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องทำภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆอีกพอสมควรนะครับ
ผมขอใช้ช่องทางนี้ ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทั้งสนับสนุน ให้ข้อแนะนำ และแสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว ขอให้คำยืนยันว่า ปตท.พร้อมรับฟังความเห็น และจะมุ่งมั่นดำเนินการในเรื่องนี้อย่างโปร่งใส เพื่อประโยชน์ที่ของผู้มีส่วนได้เสียทุกด้านอย่างสมดุลครับ
พลังงาน : “เทวินทร์” โพสต์เฟสบุ๊คแจงข้อดีแยกธุรกิจค้าน้ำมันและค้าปลีกออกจาก ปตท.
business highlight online : post 30 เมษายน 2560 เวลา 20.10 น.