หัวบันไดไม่แห้ง รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ยกคณะพบ “ประยุทธ์”

1420

business highlight online : 27 กันยายน 2560 เวลา 15.30 – 16.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายวิลเบอร์ รอสส์ (Mr. Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  โดยมีบุคคลระดับสูงของรัฐบาลร่วมหารือประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอภิรดี ตันตาภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างสองประเทศ และแสวงหาแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปการหารือ ดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ซาบซึ้งในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ นำคณะลงนามแสดงความเสียใจในสมุดหลวงต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อภัยพิบัติจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ เออร์มา และมาเรีย ซึ่งไทยได้มอบเงินช่วยเหลือ  1 ล้านบาท ผ่านสภากาชาดอเมริกัน (American Red Cross) ไทยนั้นเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2561 ทั้งสองประเทศจะครบรอบ 185 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และจะครบรอบ 200 ปีของความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการบริหารงานตลอดช่วง 3 ปีว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ IUU ICAO การค้ามนุษย์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  รวมทั้งขจัดอุปสรรคการค้า การลงทุน และเร่งปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ  สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนด้วย  โดยมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือพัฒนาประเทศให้ “มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” สำหรับพัฒนาการทางการเมืองนั้น  รัฐบาลเดินหน้าตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมการลงทุนของทั้งไทยและสหรัฐฯว่า มีแนวโน้มที่ดี และขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยดูแลนักลงทุนไทยในสหรัฐฯด้วย ที่ผ่านมามีเอกชนไทยจำนวนมากที่ได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวอเมริกัน ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ.1966 นักลงทุนสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่ากับคนไทย การลงทุนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย

สำหรับประเด็นข้อห่วงใยด้านการค้าและการลงทุนต่างๆนั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นสหรัฐฯว่า ทราบถึงความจริงจังและจริงใจของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่า การเดินทางเยือนสหรัฐฯ และการร่วมหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ยังได้ร่วมพูดคุยกับคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ประกอบด้วย นายคีธ วิลเลียมส์ (Mr. Keith Williams) ประธาน ประธานบริหารและกรรมการบริษัท Underwriters Laboratories. (UL) นายสกิป บอยซ์ (Mr. Skip Boyce) ประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Boeing นายสตีเฟน ดับเบิลยู กรีน (Mr. Stephen W. Green) ประธานบริษัท Chevron Asia-Pacific Exploration and Production Company นายมาร์ก คอฟมาน (Mark Kaufman) ประธาน Ford ASEAN นายวาวเตอร์ แวน เวิร์สช (Wouter Van Wersch) ประธานและประธานบริหาร อาเซียนบริษัท General Electric นายจอน อี ฮิวเนมานน์ (Jon E. Huenemann) รองประธานกิจการบรรษัทในสหรัฐอเมริกาและระหว่างประเทศ บริษัท Phillip Morris International และผู้แทน U.S.-ASEAN Business Council (USABC) ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมในการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิตอล รวมทั้งการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยให้โปร่งใสและสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกด้วย

การค้าภายใน / การส่งออก : หัวบันไดไม่แห้ง รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ยกคณะพบ “ประยุทธ์”

business highlight online : post 28 กันยายน 2560 เวลา 11.10 น.