business highlight online : กระทรวงเกษตรฯ ชู “โคก หนอง นา โมเดล” ช่วยแก้ปัญหาเกษตรที่สูงด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ พร้อมนำตัวแทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ลงพื้นที่ห้วยกระทิง จ.ตาก ขยายผลความสำเร็จในระยะต่อไป
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการต้นแบบการทำโคก หนอง นา โมเดล” ณ บ้านห้วยกระทิง จ. ตาก ว่า ในอดีตพื้นที่บ้านห้วยกระทิงเคยเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ดินชะล้างพังทลายสูง เกษตรกรมีหนี้สินที่นับวันแต่จะเพิ่มขึ้น และเป็นสาเหตุของเขาหัวโล้น แต่กว่า 2 ปีที่กำนันวิทยาและชาวบ้านกลุ่มหัวไวใจสู้อีก 16 คน ในชื่อ “กลุ่ม 17 พะกอยวา” หันมาเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรแบบใหม่ที่มุ่งให้เกิดความ “พอมี พอกิน” ตามพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจึงบูรณาการหน่วยงานในสังกัดพร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดและเครือข่ายประชารัฐอีกกว่า 200 คน นำตัวแทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เข้าเยี่ยมชมและเตรียมขยายผลตัวอย่างการแก้ปัญหาเกษตรที่สูงด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคกหนองนา โมเดล” ในระยะต่อไป
โครงการต้นแบบการทำโคก หนอง นา โมเดล เริ่มจากการลดพื้นที่การผลิตจากคนละ 40-50 ไร่ เหลือเพียงรายละ 10 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละรายได้รับการออกแบบพื้นที่อย่างเหมาะสมโดย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อดีตคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ประยุกต์วิชาการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสถาปัตย์ เข้ากับหลักภูมิสังคมและเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินและกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศ โดยสอดคล้องกับเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ที่เน้นการกักเก็บน้ำและตะกอนดินที่อุดมสมบูรณ์เอาไว้และเน้นให้ปลูกพืชเพื่อให้พอมี พอกิน และมุ่งเน้นให้เกิดการ “ลงแขก” หรือที่ทางภาคเหนือเรียก “เอามื้อ สามัคคี” ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการฟื้นฟูกลับมาใหม่ เป็นรูปแบบกระบวนการเรียนรู้การนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ โดยเครือข่ายตามรอยพ่อเข้ามาร่วมกันน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ลงสู่การปฏิบัติ เพื่อก้าวข้ามกับดักการเกษตรไทยทั้ง 3 ประการ ไปสู่ความพอเพียง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
“ภาคการเกษตรของไทยจะไปต่อได้ต้องก้าวข้ามกับดักการเกษตร 3 ประการ คือ 1) ความคิดความเชื่อที่ไม่เชื่อมั่นในตนเอง เห็น ‘เขาดีกว่าเรา’ หารู้ไม่ว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนแผ่นดินที่มีชัยภูมิดีที่สุดในโลกแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ สำคัญที่สุดคืออยู่ในที่ที่ทรงภูมิปัญญาและเป็นที่หนึ่งของโลกมานาน แต่ดูเหมือนว่าเรากำลังอยู่ในช่วงที่มองบ้านเราเองแบบขาดศรัทธา คือเราไม่เชื่อมั่นในคนไทยด้วยกัน ไม่เชื่อมั่นในภูมิปัญญาของประเทศนี้ 2) ความเชื่อว่าเทคโนโลยีและความสะดวกสบายนั้นคือความเจริญ ดังนั้นเราจึงดิ้นรนออกจากความลำบาก หนีออกจากภาคการเกษตรไปสู่งานบริการหรือเป็นพนักงานบริษัทเพราะงานสบายกว่า และ 3) ความไม่สามัคคีกัน ไม่รักษาอารยธรรมการเกษตรกรรม เกษตรกร คือการทำงานเป็นหมู่เป็นมวลด้วยความรักและสามัคคีกัน ถ้าสามารถรักษาขนบประเพณีว่าด้วยการเอามื้อ การลงแขก การทำงานกันเป็นหมู่กลุ่มไว้ได้จะรวยเท่าไหร่ก็ได้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย สำคัญที่สุดคือต้องก้าวข้ามกับดักนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยั่งยืนแน่นอน ‘นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน บินขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้’ ทำงานเป็นทีมไม่เป็นไม่มีทางสำเร็จ” นายวิวัฒน์ กล่าว
เศรษฐกิจพอเพียง : ก.เกษตรฯ ชู “โคก หนอง นา โมเดล” ช่วยแก้ปัญหาเกษตรที่สูง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์
business highlight online : post 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.12 น.