business highlight online : นักวิเคราะห์มองว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ของรัฐบาลประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่มุ่งเน้นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับเอเชีย และเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนั้น ยังขาดแรงจูงใจทางการค้าที่มากพอ เพราะเป็นประเด็นการเมืองที่อ่อนไหวสำหรับคนอเมริกัน ท่ามกลางบรรยากาศการกีดกันและการปกป้องทางการค้า
20 ก.พ. 65 เอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่มีการนำเสนอในสัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังจากที่การแผ่ขยายอำนาจของจีนได้สร้างความท้าทายอย่างใหญ่หลวงในหลายๆด้าน มุมมองของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนที่มีต่อจีนนั้น ไม่ต่างจากมุมมองของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลกรุงปักกิ่งอย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ของ ปธน.ไบเดน แตกต่างไปจากยุคของทรัมป์ เพราะกรุงวอชิงตันเองต้องการกอบกู้สายสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของตน ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบาย “America First” หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ของสมัย ปธน.ทรัมป์
ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้เรียกร้องให้มีการเสริมสร้างเสรีภาพ การเปิดกว้าง การเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเองร่วมกันภายในและภายนอกภูมิภาค และตอบรับสิ่งที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันเรียกว่าเป็น “การส่งเสริมความรุ่งเรืองร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม ไรอัน ฮาสส์ (Ryan Hass) แห่งสถาบัน Brookings Institution กล่าวกับวีโอเอว่า ยุทธศาสตร์ของ ปธน.ไบเดน ไม่มีกรอบเรื่องการค้าที่จะเป็นแรงดึงดูดด้านเศรษฐกิจให้ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกหันมาสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับสหรัฐฯ
อดีต ปธน.ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจาก TPP หรือ ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ หันไปลงนามในข้อตกลง CPTPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกแทน
รัฐบาลของ ปธน.ไบเดน ได้เคยกล่าวว่าไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เพราะข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกัน และได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะยังรักษานโยบายกีดกันและปกป้องทางการค้าของทรัมป์เอาไว้
ทำเนียบขาวยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของกรอบเศรษฐกิจ (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งเดิมทีนั้นมีกำหนดที่จะนำเสนอในต้นปีนี้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐบาลยอมรับว่าจะไม่มีรวมเอาการเปิดตลาดอเมริกันไว้ในกรอบเศรษฐกิจดังกล่าว
แซค คูเปอร์ (Zack Cooper) แห่งสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวว่าหากสหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะเปิดให้มีการพูดถึงการค้าและการลงทุนเสรี ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก็จะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตกลงทำตามข้อเรียกร้องในเรื่องอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือมาตรฐานการใช้แรงงาน และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ พอใจที่จะอยู่รอบนอก ในขณะที่จีนมีบทบาทในเชิงลึกมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาค
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ประโยชน์ของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อาจจะไม่ได้อยู่เพียงแค่การเปิดตลาดเท่านั้น เพราะจุดน่าสนใจของยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังรวมถึงการพัฒนากฎระเบียบการค้าโลก หรือการลงทุนของสหรัฐฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Build Back Better World หริอ B3W ที่ประธานาธิบดีไจ ไบเดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในประเทศที่กำลังพัฒนา โดย B3W เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนได้นำเสนอโครงการ Belt and Road ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการเข้าถึงตลาดอเมริกันจะไม่ได้รวมอยู่ในกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก แต่รัฐบาลกรุงวอชิงตันกลับยอมให้มีการลงนามทำสัญญาด้านการทหารและการซื้อขายอาวุธ
ที่มา VOA
Advertising