ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าไทยส่งออกยางปี 65 ทะลุ 4 ล้านตัน

218

business highlight online : 3 มิถุนายน 2565 “อลงกรณ์” ฟันธงยางไทยยึดแชมป์ส่งออกจีนเด็ดขาด ครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% เหมือนผลไม้ไทย แนะ กยท.เพิ่มการวิจัยและขยายโครงการสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิตสร้างเสถียรภาพยางไทยในตลาดโลก ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยวันนี้ (3 มิ.ย.) ภายหลังทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 3/2565 ว่า จากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ของทูตเกษตรไทยในภูมิภาคต่างๆ และรายงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประเมินได้ว่า การส่งออกยางในปี 2565 เพิ่มขึ้น และจะทะลุ 4 ล้านตัน หลังโควิด-19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยทั้งบวกและลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อเสถียรภาพราคายางและการส่งออก จากวิกฤติโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและปุ๋ย โดยเฉพาะตลาดรัสเซีย มูลค่าการส่งออกสินค้ายางจากไทยไปรัสเซีย (ม.ค.-เม.ย.65) ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

“สำหรับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยนั้น สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จากการแพร่ระบาดโควิดในจีนที่เริ่มคลี่คลาย มีการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปลดล็อกการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มั่นใจว่า ยางไทยจะสามารถยึดแชมป์ส่งออกไปจีนได้อย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้สามารถครองมาร์เก็ตแชร์การนำเข้าของจีนกว่า 40% เหมือนผลไม้ไทย และทิ้งห่างอันดับ 2 ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนถึงศักยภาพของชาวสวนยาง สถาบันยาง สหกรณ์ชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ และการยางแห่งประเทศไทย”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือในคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการส่งเสริมและสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของการยางแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2565 โดยจะนำสวนยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และในปี 2565 จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด Carbon Market ต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางของเกษตรกร ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG Model ของกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Econony) ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Zero Carbon

ที่ประชุมได้เสนอแนะให้ กยท.ขยายโครงการสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิต เพิ่มจากแผนงานเดิม โดยขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วน เพื่อเร่งสร้างเสถียรภาพตลาดยางไทย ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการตอบโจทย์อนาคตเรื่องมาตรการ CBAM และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของอียู เป็นต้น เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกยางรถยนต์ อันดับ 3-4 ส่งออกถุงมือยาง อันดับ 2 ของโลก จึงต้องบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ เช่น ขณะนี้จีนมีนโยบายลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ บางช่วงโรงงานในจีนจะลดการผลิต เพื่อรักษาระดับการปล่อยคาร์บอน และสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับมาตรฐาน FSC ซึ่งจีนมีการผลิตล้อยางส่งยุโรป จึงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการเหล่านี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง จึงเสนอแนะให้การยางแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มการวิจัยและพัฒนายางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยสามารถขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และหน่วยสนับสนุนการวิจัยของรัฐอื่นๆ ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือศูนย์ AIC ซึ่งมีอยู่ใน 77 จังหวัด เพื่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพยางของไทย โดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ตา)

สำหรับสถานการณ์ตลาดยางพาราและการนำเข้าส่งออกในประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2564 และเริ่มคลี่คลายในขณะนี้ เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ ขณะนี้สถานการณ์โควิดในประเทศจีนเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดต่ำลงมาก เศรษฐกิจจีนเติบโต ผลักดันให้ผู้ประกอบการกลับมาฟื้นฟูการผลิต มีการขยายโรงงาน มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สถานการณ์การขนส่งทางเรือดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาค่าขนส่งผ่านทางเรือมีราคาสูง ระยะเวลาในการขนส่งทางเรือไม่แน่นอน ทำให้การขนส่งล่าช้ากว่าที่กำหนด

ตามสถิติในเดือน มี.ค.65 จีนนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 276,948 ตัน คิดเป็น 40% รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม จำนวน 90,876 ตัน คิดเป็น 13% มาเลเซีย จำนวน 71,363 ตัน คิดเป็น 10% และอื่นๆ 256,549 ตัน คิดเป็น 37% ซึ่งพบว่าปริมาณผลผลิตจากแอฟริกาใต้ เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา เริ่มมีมากขึ้น และมีราคาที่ถูกกว่าไทย ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มที่จะหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา โดยสรุปจากทูตเกษตรประจำสหภาพยุโรป กรุงโรม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออสเตรเลีย กรุงโตเกียว ลอสแองเจลิส กรุงจาการ์ตา และจีน พบว่า ปริมาณการนำเข้ายางพาราของประเทศต่างๆ และมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อการส่งออกยางพาราของไทย ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าทางเรือ มีการปรับเส้นทางเดินเรือในบางเส้นทาง และมีการปรับขึ้นค่าระวางเรือ รวมถึงทำให้ราคาสินค้าหลายรายการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันด้วย

ส่วนรายงานสถานการณ์ยางพาราของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม และคาดการณ์ราคายางพารา เดือนมิถุนายน 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% ซึ่งปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติไปยังต่างประเทศของไทย ปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.64) มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็น 55% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 5% ญี่ปุ่น 6% และเกาหลีใต้ 3% และอื่นๆ 21% และในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3% และในปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.65) มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็น 51% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 9% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 6% และเกาหลีใต้ 4% และในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3% และอื่นๆ 24% สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย ปี 2564 ในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 30,087 ล้านบาท ปี 2565 ในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 29,812 ล้านบาท ลดลง 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

Advertisement