สภาองค์กรผู้บริโภคแถลงคัดค้านควบรวม “ทรู-ดีแทค”

159

business highlight online : 5 ตุลาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน รวม 57 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านการควบรวม “ทรู-ดีแทค” พร้อมประสานเสียงนักวิชาการ กสทช.มีอำนาจพิจารณาการควบรวม ชี้ต้องรักษาสิทธิประชาชน ป้องกันการผูกขาด เตือนระวังเข้าข่ายใช้อำนาจโดยมิชอบ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า สอบ.ได้ร่วมกับองค์กรเพื่อผู้บริโภคทั่วประเทศ และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน รวม 57 องค์กร อาทิ กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมทรู-ดีแทค กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพการสื่อสาร เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ฯลฯ ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค เพื่อแสดงพลังผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ยังคาดโทษคณะกรรมการ กสทช. หากไม่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระจ่ายค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ตแพงขึ้น ก็จะดำเนินการต่อ กสทช. ให้ถึงที่สุด

“ที่ผ่านมามีการออกข่าวชวนเชื่อว่า การควบรวมกิจการระหว่าง 2 ค่ายมือถือจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดการควบรวมแล้วก็จะนำไปสู่การผูกขาดของ 2 ค่ายใหญ่ คือ บริษัทใหม่ของทรูและดีแทค กับบริษัท เอไอเอส ที่จะควบคุมการดำเนินการตลาดมือถือแบบเบ็ดเสร็จ จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากนักวิชาการแสดงว่า ผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ระหว่าง 2.03% ถึง 244.5% จากในภาวะตลาดผูกขาด ลดการแข่งขันในธุรกิจ โดยที่ 2 บริษัทนี้รวมกันจะมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 97% ที่จะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หมดอำนาจการต่อรอง”

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันที่ได้มีการตีความอย่างชัดเจนแล้วว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติการควบรวมครั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.65 ก็ยังมีทีท่าว่า กสทช. อาจจะอนุมัติการควบรวมที่นำไปสู่ตลาดผูกขาด ด้วยการออกมาตรการเยียวยา 14 ข้อ ก่อนการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในมาตรการดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและนักวิชาการชี้แล้วว่า เป็นมาตรการที่หละหลวม ลอยแพผู้บริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มผู้บริโภคค้านการควบรวมจะดำเนินการต่อ กสทช. ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ในเสวนาวิชาการ หัวข้อ “กสทช. กับหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการกำกับดูแลคลื่นความถี่สาธารณะ ไม่ใช่นิติ (เพื่อ) ทุน” ที่จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) มีการพูดถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อกรณีการควบรวมกิจการของ “ทรู-ดีแทค” ซึ่ง กสทช. มีกำหนดการพิจารณาในวันที่ 12 ตุลาคมนี้

โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สอบ.อยากเห็นว่า กสทช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ ในการตัดสินไม่ให้ควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู-ดีแทค” เนื่องจากประชาชนอาจต้องจ่ายค่าโทรศัพท์แพงมากขึ้น ตั้งแต่ 2.03-244.5% และอาจส่งผลให้การแข่งขันน้อยลง หรือเกิดการผูกขาด พร้อมย้ำว่า กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่มีหน้าที่รักษาสิทธิของผู้บริโภค และทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการต่อไป

รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโทรคมนาคม กสทช. มีหน้าที่ไม่ให้ผู้ประกอบการทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันในกิจการ รวมถึงยังมีกฎหมายที่ให้ กสทช. ดูแลการควบรวมกิจการ คือ ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปี 2549 รวมถึงประกาศฯ ของปี 2561 ซึ่งแม้อำนาจในการกำกับดูแลและป้องกันผูกขาดดูเหมือนจะลดลง แต่ยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจทั้งการอนุญาต-ไม่อนุญาต

ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนอย่างเดียว เพราะ กสทช. คือองค์กรอิสระที่มีสิทธิในการกำกับดูแล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน เมื่อเกิดการทักท้วงถึงปัญหาการควบรวมกิจการ กสทช. ต้องฟังและนำไปพิจารณา แต่ปัญหาคือ กสทช.ไม่ยอมพิจารณา ทั้งที่ตัวเองมีหน้าที่

“การตีความของ กสทช.นั้นเหลือทน คือเกินไป เพราะศาลปกครองและกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่ามีอำนาจ แต่ กสทช.กลัวอะไร หรือกลัวว่าเมื่อนำเข้าพิจารณาแล้วจะควบรวมไม่ได้ ใช่หรือไม่ สิ่งที่เราขอไม่ได้มากเกินไป แค่ขอให้ทำตามกฎหมาย คือ นำเข้ามาพิจารณาใน กสทช.เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น หากวันที่ 12 ตุลาคม กรรมการ กสทช. ยังพิจารณาว่า การควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค ไม่สะดุด ขอให้รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะอาจจะเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยมิชอบ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

Advertisement